ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐบังคับใช้กฎอาชญาบัตร เรือประมงแสมสารกว่า 300 ลำ กลัวถูกจับทิ้งสมอจอดนิ่งไม่กล้าหาปลา
ตามที่ทางศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ออกคำสั่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.58 โดยจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อเรือประมงผิดกฎหมาย ไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 15 รายการ เช่น ใบอาชญาบัตร ใบอนุญาตใช้เครื่องวิทยุ อุปกรณ์เซฟตี้จากศูนย์ PIPO จะไม่สามารถออกทำการประมงได้
โดยในวันนี้ (1 ก.ค.) นายปริญญา โพธิสัตย์ นายอำเภอสัตหีบ ได้สั่งการให้ นายชวัฒน์ เทพทัพ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับผู้นำชุมชน และชุดประสานงานประจำพื้นที่ ทหารเรือที่ 4 เข้าทำการตรวจสอบผู้ประกอบการเรือประมงในพื้นที่ชุมชนบ้านช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
พร้อมรายงานผลให้ทาง นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รับทราบถึงสถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เบื้องต้นพบว่า เรือประมงทุกชนิดกว่า 300 ลำ ได้จอดทิ้งสมอหยุดออกหาปลาแล้ว เพราะไม่อาจปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยเฉพาะอาชญาบัตรที่ไม่ตรงกับตัวเรือ ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงไม่กล้านำเรือออกหาปลา เพราะเกรงจะถูกจับกุม โดยไม่มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
นายปราโมทย์ โถวสกุล หรือเสี่ยเล็ก อดีตกำนันแสมสาร ผู้ประกอบการประมงรายใหญ่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวขณะนี้ทางสมาคมประมงแสมสารยังไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ มีเพียงแต่ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก และเรือประมงทุกลำทราบว่า ทาง ศปมผ. ได้มีมาตรการเข้มและจะออกตรวจจับเรือทุกลำในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทำให้เรือประมงที่มีเอกสารไม่ถูกต้องส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นปัญหาอาชญาบัตร ไม่ตรงกับตัวเรือ สืบเนื่องจากอดีตที่รัฐบาลไม่ได้มีการเข้มงวดในเรื่องนี้ ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำการดัดแปลงส่วนต่างๆ ของตัวเรือ เพื่อให้ลดปัญหาการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง มาเวลานี้ ทางรัฐบาลไทยได้ถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) ให้เร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ในระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เรือประมงที่มีอาญาบัตรผิดประเภทไม่สามารถดำเนินการยื่นเรื่องแก้ไขให้ถูกระเบียบได้ทัน
ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายได้ไปยื่นแจ้งความจำนง แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ทำให้ในเวลานี้เรือประมงที่มีปัญหาต้องหยุดหาปลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแรงงาน สภาพธุรกิจประมง และตลาดการค้าอาหารทะเล รวมถึงราคาอาหารทะเลที่แพงลิบตามมาอย่างแน่นอน จึงฝากไปยังรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายในข้อนี้เพื่อให้ชาวประมงได้ลืมตาอ้าปาก
นอกจากนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวยังถูกหยิบยกให้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขหลังผู้ประกอบการได้นำแรงงานต่างด้าวในความดูแลไปดำเนินการทำบัตรให้เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย เมื่อมีคนมายื่นข้อเสนอว่าจ้างไปในราคาที่ดีกว่า หรือลูกจ้างไม่พอใจในค่าแรง ก็จะพากันออกจากงาน เปลี่ยนงานใหม่ เพราะเห็นว่ามีบัตรทำงานที่ถูกต้องแล้ว จึงไม่นึกถึงผลกระทบที่จะตามมาสู่นายจ้าง ซึ่งปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการยังโอดครวญอยู่ในขณะนี้