xs
xsm
sm
md
lg

“ทต.ดงคอน” ชัยนาทเรียกชาวนาบ้านทุ่งกระถินประชุมลดความขัดแย้งแย่งสูบน้ำบาดาล อ่างทองเร่งสูบน้ำทำนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เทศบาลตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เรียกชาวนาบ้านทุ่งกระถินประชุมลดความขัดแย้งสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ทำนา
ชัยนาท/อ่างทอง - เทศบาลตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรี เรียกชาวนาบ้านทุ่งกระถินประชุมลดความขัดแย้งสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ทำนาที่เกิดการดึงน้ำใต้ดินระหว่างบ่อบาดาลขนาดใหญ่ 32 วา ที่กลุ่มชาวนาส่วนน้อยได้ใช้ประโยชน์ กับบ่อบาดาลขนาดเล็ก 18 วา ที่กลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ส่วนชาวนาอ่างทอง เร่งสูบน้ำบาดาลทำนากว่า 40 ไร่ แม้เสี่ยงขาดทุน แต่ก็ต้องสู้เพื่อหารายได้

วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่ศาลาประชาคม หมู่ 16 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เทศบาลตำบล (ทต.) ดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เรียกประชุมชาวนาบ้านทุ่งกระถิน หมู่ที่ 6 และชาวนาบ้านทุ่งกระถินพัฒนา หมู่ที่ 16 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท กว่า 100 คน เกี่ยวกับความขัดแย้งในการสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ทำนาที่เกิดการดึงน้ำใต้ดินระหว่างบ่อบาดาลขนาดใหญ่ 32 วา ที่กลุ่มชาวนาส่วนน้อยได้ใช้ประโยชน์ กับบ่อบาดาลขนาดเล็ก 18 วา ที่กลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ให้เกิดการแย่งน้ำ และลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะต่างมีความต้องการนำน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะแห้งตายเหมือนกัน

โดยมี นางวัญจนา ชันโรจน์ ปลัดอำเภอสรรคบุรี นายเนรมิต ชูมก หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลดงคอน ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี นางกมลวรรณ อ่ำบุญ เจ้าพนักงานทรัพยากรธรณีชำนาญงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยนาท และเจ้าหน้าที่ทหารชุดประสานงานประจำพื้นที่ชุดที่ 8 จังหวัดชัยนาท เป็นผู้มารับฟังปัญหา และหาทางออกให้แก่ชาวนาทั้ง 2 กลุ่ม

โดยกลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ อ้างว่า ไม่สามารถสูบน้ำจากบ่อบาดาลขนาดเล็กของแต่ละคนขึ้นมาใช้ทำนาได้ เนื่องจากมีบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่ทางราชการเจาะไว้ให้ ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ซึ่งมีแรงสูบน้ำมาก และกลุ่มชาวนาส่วนน้อยได้ใช้ประโยชน์ ทุกครั้งเมื่อมีการเปิดใช้น้ำจากบ่อบาดาลขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดการดึงน้ำใต้ดินจากบริเวณโดยรอบ ส่งผลให้บ่อบาดาลขนาดเล็กไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ขณะที่กลุ่มชาวนาส่วนน้อยบอกว่า ใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลที่ทางราชการเจาะให้ไว้มาหลายปีแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร

ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี จึงได้ตรวจสอบข้อมูลของบ่อบาดาลขนาดใหญ่ที่กลุ่มชาวนาส่วนใหญ่อ้างถึง พบว่า เป็นบ่อบาดาลที่เจาะไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีความลึก 48 เมตร ท่อวัดน้ำ 36-42 เมตร ซึ่งเป็นการใช้น้ำชั้นเดียวกันกับบ่อขนาดเล็กที่กลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ใช้ แต่มีแรงสูบมากกว่า ทำให้เมื่อเปิดใช้งานจะทำให้เกิดกรวยน้ำลดขยายวงกว้าง อีกทั้งสภาพความแห้งแล้ง ส่งผลให้บ่อบาดาลขนาดเล็กไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้

ที่ประชุมจึงมีข้อยุติให้กลุ่มชาวนาส่วนน้อยที่ใช้น้ำจากบ่อบาดาลขนาดใหญ่แห่งนี้ หยุดการสูบน้ำชั่วคราวเพื่อไม่ให้เกิดการดึงน้ำใต้ดิน โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี จะจัดหาแหล่งขุดเจาะบ่อบาดาลขนาดเล็กให้กลุ่มชาวนาส่วนน้อยไว้ใช้แทน เพื่อให้ชาวนาทั้งหมดในพื้นที่สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้เท่าเทียมกัน ไม่เกิดการดึงน้ำใต้ดินระหว่างกันเพื่อให้นาข้าวที่ปลูกไว้ในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ จะได้ไม่ต้องขาดน้ำแห้งตาย และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แย่งน้ำกันใช้ระหว่างชาวนาในตำบลเดียวกัน

**ชาวนาอ่างทองเร่งสูบน้ำบาดาลทำนา

ด้าน นายสกล เหล็กไหล อายุ 57 ปี ชาวนาบ้านเลขที่ 98/1 หมู่ 2 ตำบลอินทรประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ลงทุนทำนากว่า 40 ไร่ ในทุ่งนาอินทรประมูล หลังเกิดภัยแล้งชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ โดยใช้น้ำบาดาลในบ่อกลางนาที่ขุดบ่อบาดาลไว้แล้วทำการสูบน้ำเร่งปรับพื้นที่ และลงมือปักดำข้าวในแปลงนา ต้องสู้เสี่ยงภัยแล้ง แมลง และหนูนากัดกินที่มีผลต่อการเสี่ยงขาดทุน แต่ต้องลุยเสี่ยงทำนาเนื่องจากหากทำนาล่าช้าน้ำมาอดทำตลอดปี

“หลังหยุดทำนาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ แต่ช่วงนี้ชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ จึงใช้น้ำจากบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้มาทำนา แม้ว่าการทำนาสู้ภัยแล้งจะมีต้นทุนสูงมากขึ้น ทั้งค่าน้ำมันสูบน้ำ ค่าปุ๋ย ค่ายา และหนูนาที่อาละวาด แต่ต้องทำเพราะไม่มีรายได้” นายสกล กล่าว




ชาวนาในพื้นที่ตำบลอินทรประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เร่งสูบน้ำจากบ่อบาดาลกลางนาขึ้นมาทำนา


กำลังโหลดความคิดเห็น