xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่งกุลาฯ วิกฤตหนัก! น้ำในอ่างเก็บที่เหลือไม่พอใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร้อยเอ็ด - พื้นที่นาทุ่งกุลาร้องไห้วิกฤต อ่างเก็บน้ำ 4 แห่งเริ่มแห้ง ระดับน้ำในอ่างอยู่ต่ำกว่าระดับธรณีท่อส่งน้ำถึง 2 เมตร และยังสำรวจพบปัญหาสูบน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำออกมาหมดก็ยังไม่พอเลี้ยงนาข้าวที่ชาวนาทำซ้ำครั้งที่ 3 ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ย้ำใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด เตรียมประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยฝนหลวง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายพิทยา กุดหอม หัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และนายอเนก ไชยคำภา หัวหน้าสำนักงานชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด ลงสำรวจเตรียมแผนรองรับจัดการด้านการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และทำนาปีของพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในกลางพื้นทีทุ่งกุลาร้องไห้

โดยลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบระดับการเก็บกักน้ำที่อ่างเก็บน้ำ โครงการชลประทานหนองท่าจอก ต.ช้างเผือก เป็น 1 ใน 4 แห่งของ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีความสามารถเก็บกักน้ำได้ 1,190 ล้าน ลบ.ม. และเคยเก็บกักน้ำมีระดับสูงสุดของอำเภอที่สามารถส่งน้ำด้ายคลอง 4 สาย เลี้ยงนาข้าวในฤดูแล้งได้ 60,000 ไร่ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำข้าวนาปีเพื่อรอฝน ซึ่งปีนี้พบว่า มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงที่สุดกว่าทุกปี

นายปณิธาน สุนารักษ์ นายอำเภอสุวรรณภูมิ กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรของพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ ปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก พบว่า ข้าวนาหว่านหลายหมื่นไร่ของเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ชาวนาต้องทำการหว่านข้าวรอฝนเป็นรอบที่ 3 แล้วในปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเสียหายเป็นรอบที่ 3 จำนวนมาก เนื่องจากถึงแม้จะมีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้เพื่อการแก้ปัญหาแล้วก็พบว่า มีปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำพอที่จะสูบออกมาช่วยเหลือชาวนาได้ จึงหวังแต่เพียงการรอน้ำฝนจากธรรมชาติมาแก้ปัญหาให้แก่ชาวนา

ด้านนายอเนก ไชยคำภา หัวหน้าสำนักงานชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำในอ่างทั้ง 4 แห่งในเขต อ.สุวรรณภูมิ มีระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าทุกปี เช่น อ่างเก็บน้ำหนองท่าจอก ก็เหลือน้ำเพียงประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.หรือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างเท่านั้น และระดับน้ำที่เหลือก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับธรณีท่อส่งน้ำ ที่วัดระดับน้ำแล้วต่ำกว่าทั้ง 4 สายถึงกว่า 2 เมตร จนไม่สามารถระบายน้ำออกช่วยเหลือได้

ถึงแม้จะเตรียมการด้านเครื่องสูบน้ำเข้ามาเสริมสูบน้ำออกก็ต้องขอมติจากกรรมการจัดการน้ำชุมชนว่า อนุญาตหรือไม่ เพราะเกรงจะกระทบด้านการใช้น้ำด้านอื่นของชุมชน เพราะจะเกิดผลกระทบด้านอื่น ทั้งวัวควาย สัตว์เลี้ยง และสัตว์น้ำที่เป็นอาหารโปรตีนของชาวบ้านด้วย

ทางด้านการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของพื้นที่นี้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ประเมินแล้วแม้จะสูบน้ำออกจากอ่างทั้งหมดก็ยังไม่สามารถได้น้ำทั้งหมด ลำพังแม้แต่จะแก้ปัญหานาข้าวโดยรอบพื้นที่ชลประทาน จำนวน 2,112 ไร่ ก็ยังไม่พอ ดังนั้น การใช้น้ำต้องให้เป็นตามมติของกรรมการการจัดการน้ำของชุมชนเข้ามาแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม พบว่านาข้าวยังสามารถยืดเวลารอฝนได้นานกว่า 20 วันขึ้นไป จึงยังหวังว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างพอเพียงช่วยเหลือในการแก้ปัญหาได้

แต่ก็ไม่ประมาททางจังหวัดได้กำชับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ให้พร้อม ทั้งเครื่องสูบน้ำของชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงส่งน้ำระยะไกล ของป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ที่สามารถส่งน้ำระยะไกลกว่า 3 กม. ให้พร้อมที่จะช่วยเหลือหากมีฝนตกมาเพิ่มในอ่างก็พร้อมที่จะส่งน้ำช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน จังหวัดก็จะมีการประสานกับหน่วยฝนหลวงไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเข้ามาเสริมหากไม่มีฝนตก ให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น