ชัยนาท - เกษตรจังหวัดชัยนาท เผย ก.เกษตรเตรียมใช้แนวทาง “ชัยนาทโมเดล” เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำน้อยเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร หลังสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาที่มีน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เตรียมนำข้อมูลทั้งหมดเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
วันนี้ (25 มิ.ย.) นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า หลังจากที่ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น จังหวัดชัยนาทได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาที่มีน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร
โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัดนำแนวทางที่จังหวัดชัยนาทนำเสนอเป็น “ชัยนาทโมเดล” นำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาตามสภาพพื้นที่ของแต่ละจังหวัด แล้วสรุปข้อมูลแต่ละจังหวัดให้ทางกระทรวงเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ให้เร่งประชุมชี้แจงผู้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความเข้าใจในสถานการณ์น้ำ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ให้ชลประทานส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานที่ปลูกข้าวแล้วเพื่อไม่ให้ข้าวเสียหาย ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานให้สนับสนุนการใช้บ่อน้ำตื้น หรือแหล่งน้ำธรรมชาติในการเพาะปลูก สุดท้ายคือ การแนะนำให้เกษตรกรทำนาแบบระบบแห้งสลับเปียก เพื่อประหยัดการใช้น้ำ
ระยะกลาง ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว และเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานหันมาปลูกพืชไร่ พืชผักที่ใช้น้ำน้อยแทนปลูกข้าว โดยรัฐช่วยเหลือสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเคมี ทำการปรับปรุงระบบชลประทานที่มีปัญหา และเพิ่มการทำฝนหลวงให้มากขึ้น
ระยะยาว ให้มีการปรับปรุงระบบชลประทานทั้งระบบ เพื่อให้การส่งน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมการปลูกป่าต้นน้ำ และมีกฎหมายบังคับให้เจ้าของที่ดินหากมีพื้นที่ 20 ไร่ หรือ 50 ไร่ ให้มีบ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำ 1 บ่อ สอดคล้องต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ควรมีแหล่งน้ำของตนเอง
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่จังหวัดชัยนาทได้นำเสนอเป็น “ชัยนาทโมเดล” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัด นำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของแต่ละจังหวัดแล้วแต่สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยให้แต่ละจังหวัดสรุปข้อมูลความต้องการของเกษตรกรมาให้กระทรวงฯ ภายในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ จากนั้นทางกระทรวงฯ จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป