อ่างทอง - “บึงศาลาอ้อ” บึงน้ำธรรมชาติแหล่งใหญ่สุดในอ่างทอง เนื้อกว่า 120 ไร่ วิกฤตหนักน้ำแห้งขอดในรอบ 20 ปี คาดมีใช้น้ำได้อีก 10 วัน ชาวนาที่ใช้น้ำในบึงหล่อเลี้ยงต้นข้าวครวญหมดหวังหลังบึงแห้ง ขณะที่ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ที่ลพบุรีก็อยู่ในขั้นวิกฤตหนักเช่นกัน พบน้ำในเขื่อนเหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ “บึงศาลาอ้อ” ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลสาวร้องไห้ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และเป็นบึงน้ำธรรมชาติที่ใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง มีเนื้อที่กว่า 120 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 422,366 ลูกบากศ์เมตร เพื่อใช้ในการเกษตรและประมงพื้นบ้าน ได้แห้งขอดวิกฤตสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวนาที่ใช้น้ำจากบึงทำนาพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ต้องเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะบึงน้ำแห่งนี้เป็นที่หล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง ชาวนาต่างหวั่นว่าผลผลิตเสียหาย และเฝ้ารอฝนตกลงมาช่วยเติมน้ำในบึงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายนิคม ชูแก้ว อายุ 50 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลสาวร้องไห้ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า บึงศาลาอ้อเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้หล่อเลี้ยงชาวตำบลสาวร้องไห้ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากบึงแห่งนี้ในการทำประมง และเกษตรกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยหน่วยราชการได้นำกุ้ง และปลามาปล่อยให้ขยายพันธุ์เจริญเติบโตเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ชาวประมง และมีกิจกรรมทางน้ำในการแข่งเรือทุกปี
“แต่ปีนี้ได้เกิดภาวะแล้งอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลกระทบชาวนาที่สูบน้ำจากบึงศาลาอ้อ มาหล่อเลี้ยงต้นข้าว จนกระทั่งบึงแห่งนี้น้ำลดลงต่อเนื่องจนเกือบแห้ง หากฝนไม่ตกลงมาคาดว่าไม่เกิน 10 วัน น้ำในบึงศาลาอ้อคงแห้งหมดบึงเป็นแน่” นายนิคม ชูแก้ว กล่าว
ด้าน นายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และลุ่มน้ำป่าสัก ขณะนี้ถือว่าวิกฤต และน่าเป็นห่วงอย่างมาก หลังปริมาณสะสมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เหลือน้ำอยู่ที่ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทางเขื่อนได้ปล่อยน้ำทางประตูฉุกเฉินเพื่อนำน้ำไปรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนอยู่ที่วันละ 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว สถานการณ์แบบนี้เป็นผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสามารถใช้น้ำได้อีกแค่ 20 วัน และมีน้ำใช้ถึงแค่กลางเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เท่านั้น
“การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักฯ ขณะนี้ทางเขื่อนต้องประคับประคองให้สามารถใช้น้ำให้ได้นานที่สุด แต่หลังน้ำหมดเขื่อนหลายพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี ได้รับผลกระทบจากน้ำอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และการไล่น้ำเสีย และน้ำเค็มในอนาคต” นายอรรถพรกล่าว
นายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี ระบุด้วยว่า ขณะนี้ทางชลประทานได้ประสานกับศูนย์ฝนหลวงภาคกลางเพื่อเพิ่มเที่ยวบินทำฝนหลวงพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักฯ โดยหวังว่าฝนเทียมจะตกลงมาในเขื่อนเพื่อเติมน้ำในเขื่อนให้พ้นวิกฤต