ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปตท.นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานด้านการดำเนินธุรกิจ และ CSR ของ ปตท. พร้อมดูการพัฒนากาแฟที่ Café Amazon Coaching Academy และศึกษาดูงาน “โครงการป่าในกรุง”
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชนใน จ.ชลบุรี ไปสัมมนา และศึกษาดูงานด้านการดำเนินธุรกิจ และ CSR ของ ปตท. ที่สำนักงาน ปตท.พระโขนง และศึกษาธุรกิจกาแฟที่ Caf Amazon Coaching Academy รวมทั้งรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง Up date สถานการณ์พลังงาน จาก ดร.ปิยสัวสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ ก่อนเดินทางไปศึกษาดูงาน “โครงการป่าในกรุง” ที่ถนนสุขาภิบาล 2
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติการคลัง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า เนื่องจาก ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นทางด้านพลังงานของไทย และเป็นที่ทราบกันดีว่า จังหวัดชลบุรี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานน้ำมัน และพลังงานก๊าซแอลพีจีไปยังประชาชน โดยปตท.ให้ความสำคัญต่อพื้นที่จังหวัดชลบุรีค่อนข้างมาก เนื่องจากความเป็นศูนย์กลางทางการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ของ ปตท. ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวก็เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนในพื้นที่กับ ปตท. ที่ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2
"ปตท.มีธุรกิจที่ตั้งอยู่ในชลบุรีมานานกว่า 30 ปี ทั้งในตำบลอ่าวอุดม อำเภอบางละมุง และในเขตเขาบ่อยา อำเภอศรีราชา ที่มีทั้งคลังปิโตเลียมขนาดใหญ่ และคลังก๊าซแอลพีจี ซึ่งเราค่อนข้างห่วงใยชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ แต่ที่ผ่านมา กิจกรรมที่ ปตท.ทำกลับมีการสื่อสารออกไปยังประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ค่อนข้างน้อย สื่อมวลชนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะดึงให้ภาคธุรกิจ กับภาคประชาชนมาอยู่ใกล้กัน และนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข้อเป็นจริงสื่อไปยังประชาชนเพื่อการพัฒนาพลังงานในประเทศอย่างยั่งยืน”
ดร.ปิยสัวสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังบรรยายพิเศษ เรื่อง Up date สถานการณ์พลังงานว่า ตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่ การปรับราคาพลังงานของไทยสามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้มากขึ้น และขณะนี้โครงสร้างราคาค่อนข้างมีความเหมาะสมจนนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานประเภทต่างๆ จากเดิมที่รัฐบาลมีการชดเชยราคาแอลพีจีมาก จนทำให้การใช้พลังงานมีปริมาณมากจนเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แต่เมื่อมีการปรับโครงสร้างราคาก็เริ่มเห็นว่าการใช้แอลพีจีลดลงโดยเฉพาะในยานพาหนะ โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลักลอบส่งออกลดลง
“ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศมีปริมาณลดลงประมาณ 30-40% ซึ่งก็หมายความว่า การชดเชยจากกองทุนน้ำมันในอนาคตจะลดตาม โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันที่ในวันนี้มีเงินสะสมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนของ ปตท.อีกเรื่องที่สำคัญในขณะนี้ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำมัน และแหล่งแก๊สในประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องโดย ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. และ ปตท. ก็ยังต้องนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศ หลังแหล่งแก๊สในไทยมีไม่เพียงพอ”
ดร.ปิยสัวสดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งแก๊สในประเทศไทยยังมีเรื่องค้างคาคือ การให้สัมปทานรอบที่ 21 และการจัดการต่อแหล่งแก๊สที่สัมปทานจะหมดอายุ และไม่สามารถต่อสัญญาได้ตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้เสนอความเห็นไปยังรัฐบาลแล้วว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร และหวังว่าจะมีการตัดสินใจที่ชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อให้เกิดการทำสัญญาในปีหน้า
“เราไม่สามารถที่จะรอให้สัญญาสัมปทานหมดอายุได้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้วการลงทุนต่างๆ ก็จะเริ่มลดลง และจะมีผลต่อการผลิตแก๊สในประเทศไทยที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ผมก็ยังหวังว่ากรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในการที่จะบรรลุข้อตกลง เพราะแหล่งนั้นน่าจะเป็นแหล่งแก๊สที่ยังเหลือในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงสุด ขณะที่แก๊สธรรมชาติของไทยเมื่อดูจากปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วมีความมั่นใจว่า 90% สามารถผลิตได้ ซึ่งถ้าเทียบกับการใช้ในปัจจุบันก็จะเหลือได้อีก 6-7 ปี”
แต่ในข้อเท็จจริงหากเรามีการสำรวจเพิ่มเติมก็จะอยู่ได้นานกว่านั้น ซึ่งปัจจุบันประมาณ 20% ของแก๊สถูกนำเข้าจากประเทศพม่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อหมดอายุสัญญาเป็นไปได้สูงที่พม่าจะไม่ต่อสัญญา จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาในส่วนที่สามารถทำได้ คือ การขุดเจาะและสำรวจในประเทศ และเตรียมการสำหรับนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลว ที่จะต้องสร้างคลังสำหรับเก็บ และทำให้ของเหลวกลายเป็นแก๊ส
“เรื่องราคาพลังงานรัฐบาลทำได้แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าในเรื่องของสัมปทาน รัฐบาลจะสามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ว และผมเชื่อว่ารัฐบาลมีความตระหนักดีว่า ผลกระทบจากการล้าช้าของนโยบายจะกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม เพราะหากไม่มีความชัดเจน การลงทุนโดยผู้รับสัมปทานปัจจุบัน และการผลิตแก๊สจะลดลงจนต้องนำเข้า ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนพลังงานที่จะสูงขึ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท รายได้ของรัฐก็จะหายไปมหาศาล ค่าไฟจะสูงขึ้นประมาณ 15-90 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มเติมจากราคาที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลว และผมคิดว่าอุตสาหกรรมไทยจะไม่สามารถอยู่ได้ในระดับค่าไฟเช่นนี้”