xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อีสานแล้งหนักน้ำเขื่อนใหญ่แห้งใกล้วิกฤต ชาวนาระทม โคราชน่าหวงสุดแล้ง 23 อำเภอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ที่ปรึกษา รมว.เกษตร ลงพื้นที่โคราชติดตามสถานการณ์แล้งภาคอีสาน ชี้ฝนน้อยทำแล้งทวีรุนแรง น้ำเขื่อนใหญ่อีสานแห้งฮวบใกล้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ชาวนาเดือดร้อนหนัก เผยพอมีความหวังพายุเข้าอีสานปลาย มิ.ย.นี้ และทิ้งช่วงไปอีกนาน ระดมทุกหน่วยรับมือ

วันนี้ (20 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำนักงานชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

โดยในที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฤดูแล้งปีนี้จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา และฝนจะตกช้าในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ฉะนั้นจะมีปัญหากระทบการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรที่จะต้องเตรียมการรองรับไว้ ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ใกล้เข้าสู่ภาวะวิกฤต

ด้านศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสานว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 23 อำเภอ จ.ขอนแก่น 12 อำเภอ จากทั้งหมด 26 อำเภอ จ.ชัยภูมิ 7 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอ จ.สกลนคร 4 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อ.เภอ,จ.อำนาจเจริญ 4 อำเภอ จากทั้งหมด 7 อำเภอ และ จ.สุรินทร์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 1 อำเภอ จากทั้งหมด 17 อำเภอ ขณะนี้หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยได้เข้าให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

พล.ต.อินทรัตน์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากรายงานทราบว่า จะมีพายุฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แผ่เข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคอีสานในช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย.นี้

จากนั้นจะทิ้งช่วงไปอีกยาว ทุกฝ่ายจึงวางแผนเตรียมการรับมือไว้โดยเฉพาะการเก็บกับน้ำ แต่หากคลาดเคลื่อนฝนไม่มาตามคาดหมายก็จะเป็นหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 2 ที่จะต้องประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวอีสานไม่ต้องตื่นตระหนก รัฐบาลเตรียมแผนรองรับไว้แล้วในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าโครงการตั้งแต่ปี 2559 ทั้งเรื่องการผันน้ำเลย มาเขื่อนลำปาว การสวิงน้ำมาจากชัยภูมิช่วยน้ำชี มาเก็บน้ำบริเวณลำตะคอง เพื่อมาดูแลลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี เป็นต้น ขอเวลาทำงานสักระยะ

“สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้น่าเป็นห่วงมากเนื่องจากฝนน้อยกว่าทุกปี แต่ทางกรมชลประทานยังให้ความมั่นใจว่า ยังมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม้ฝนจะไม่ตกในเดือน ก.ค.นี้ก็ตาม แต่น้ำเพื่อการเกษตรน่าห่วง ขณะที่ฝนหลวงได้เร่งดำเนินการโปรยฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยจังหวัดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ นครราชสีมา ซึ่งประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 23 อำเภอ รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานเข้ามา” พล.ต.อินทรัตน์ กล่าวในตอนท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น