xs
xsm
sm
md
lg

พัทยามีหวังได้ท่าเรือเฟอร์รี่หลัง คสช.ลงดูความพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - พัทยามีหวังได้ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ หลัง คสช.ลงพื้นที่ตรวจสภาพท่าเทียบเรือบาลีฮาย หวังพัฒนาเป็นท่าเรือข้ามฟากในอนาคต

วันนี้ (20 มิ.ย.) พล.อ.อ.วิโรจน์ นิสยันต์ ที่ปรึกษารองหัวหน้า คสช.พร้อมคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนการพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาคอ่าวไทยตอนบน

โดยเฉพาะแผนการจัดสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากเส้นทางพัทยา-หัวหิน ซึ่งมีเป้าหมายการจัดสร้างในพื้นที่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ โดยมี นายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายเรวัตร โพธิ์เรียง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าพัทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปเพื่อนำเสนอความเป็นมาของท่าเรือ รวมทั้งลักษณะทางกายภาพ สภาพโดยรวด้านเศรษฐกิจ และโครงสร้างของท่าเรือในปัจจุบัน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ในปี 2545 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้อุดหนุนงบประมาณกว่า 238 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยว และถมทะเลบริเวณพัทยาใต้เพื่อใช้ในกิจกรรมขนส่งและคมนาคม โดยส่งมอบให้เมืองพัทยาอย่างเป็นทางการไปแล้ว

สำหรับท่าเรือดังกล่าวมีความยาวประมาณ 800 เมตร พื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,528 ตร.ม. ประกอบด้วยท่า A, B, C, D และ E สามารถรองรับการจอดเรือโดยสาร สปีดโบตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวใช้บริการที่ท่าเรือเฉลี่ยประมาณ 80,000 คนต่อเดือน และหากจะมีการพัฒนาเพื่อรองรับการให้บริการท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก จำเป็นต้องทำการพัฒนาและปรับปรุงในหลายด้าน

ทั้งโครงสร้างสะพานที่มีความชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ซึ่งปัจจุบัน เมืองพัทยามีแผนงานในการปรับปรุงไปแล้วภายใต้งบดำเนินการกว่า 5 ล้านบาท สิ่งสำคัญคือ ข้อกำหนดของการใช้งาน เนื่องจากท่าเทียบเรือพัทยาใต้ จะมีระดับความลึกของน้ำในระยะ 2 เมตร ขณะที่ท่าเรือเฟอร์รี่ที่มีแผนการจัดทำนั้นมีระยะกินน้ำลึกกว่า 3 เมตร จึงอาจส่งผลกระทบได้

ขณะที่เมืองพัทยา ถือว่ามีความพร้อมเนื่องจากเป็นท่าเรือที่อยู่ในการดูแลของรัฐ เพียงแต่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของพื้นที่จอดรถ และการคมนาคมที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการเดินทางหลักด้วย

ด้าน พล.อ.อ.วิโรจน์ นิสยันต์ ที่ปรึกษารองหัวหน้า คสช. 4 กล่าวภายหลังนำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความพร้อมของท่าเทียบเรือพัทยาใต้ว่า แผนงานดังกล่าวภาครัฐให้ความสนใจเพื่อใช้เป็นช่องทางส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาระบบขนส่งคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคตะวันตกและตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแผนในการจัดสร้างท่าเรือเฟอร์รี่สายนำร่องพัทยา-หัวหิน แต่การดำเนินการจำเป็นต้องมีความรอบคอบ และมีความเหมาะสม ทั้งเรื่องของสถานที่ งบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ

ทางคณะจึงมีแนวคิดที่จะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามแผนที่จะจัดทำ โดยเฉพาะเรื่องของสถานที่เป้าหมาย ซึ่งเบื้องต้น กำหนดไว้ 5 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือเกาะลอย ศรีราชา ท่าเทียบเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ท่าเทียบเรือโอเชี่ยนมารีน่า ตำบลนาจอมเทียน และท่าเทียบเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ โดยจะนำข้อมูลไปเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีคมนาคมอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

สำหรับท่าเรือเฟอร์รี่ที่จะเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างเมืองพัทยา สู่หัวหินนั้น คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการลงทุนอีกครั้งว่าจะเป็นการสัมปทานให้ภาคเอกชนที่สนใจ หรือภาครัฐดำเนินการเอง เพียงแต่กำหนดให้ใช้เรือเฟอร์รี่ลักษณะแบบ Catamaran ขนาด 250 ตันกรอส ซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 280 คน พร้อมยานพาหนะอีกกว่า 30 คัน โดยสารข้ามฟากจากพัทยาไปหัวหิน ด้วยความเร็ว 18 นอต ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ก็จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางที่ใช้เวลาบนถนนกว่า 4-5 ชั่วโมง ที่ระยะทาง 345 กม. เหลือเพียง 1.5-2 ชั่วโมง ในระยะทาง 105 กม.เท่านั้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น