มหาสารคาม - อดีตนายร้อยตำรวจเกษียณอายุราชการ ยึดอาชีพเกษตรกรเต็มตัว พลิกฟื้นที่ดิน 6 ไร่ที่แห้งแล้งทำสวนผสม สร้างรายได้แต่ละเดือนร่วม 3 หมื่นบาท เผยยึดเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง” จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หลายพื้นที่ใน จ.มหาสารคามยังประสบปัญหาภัยแล้งที่ซ้ำซาก แต่ยังมีเกษตรกรที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลิกฟื้นผืนดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จนสามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ส่งผลดีต่อลูกหลานไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานไกลบ้าน มีความสุขทั้งครอบครัว
อย่างกรณีครอบครัว ร.ต.ต.นิติพัฒน์ พงษ์หนองพอก อดีตข้าราชการตำรวจ บ้านดงน้อย ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ที่ทำสวนเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ปัจจุบันสามารถลืมตาอ้าปาก สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอย่างงดงาม ทั้งยังจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรมีสมบูรณ์ เปิดให้กลุ่มเกษตรกรที่สนใจได้เรียนรู้ พัฒนาต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนของตนเองอีกด้วย
ร.ต.ต.นิติพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรมีสมบูรณ์ เปิดเผยว่า เกษียณอายุราชการจากอาชีพตำรวจ สภ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อปี 2550 จากนั้นได้ทดลองเลี้ยงโคขุน เนื่องจากเป็นที่นิยมของเกษตรกรในขณะนั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จอยู่หลายปี และมาทดลองทำเองที่บ้านเมื่อปี 2555 ในพื้นที่ 6 ไร่
ตอนแรกชาวบ้านใกล้เคียงให้ความเห็นว่าอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเพราะความแห้งแล้ง ประกอบกับดินไม่ดี แต่ตนไม่ย่อท้อ พยายามปรับปรุงบำรุงดินตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร พร้อมขุดบ่อ เจาะน้ำบาดาล และจัดสวนให้ลงตัว ง่ายต่อการเก็บผลผลิต เริ่มแรกปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง เนื่องจากเห็นว่าชาวมหาสารคามชอบรับประทานส้มตำ ซึ่งมะละกอก็สามารถสร้างรายได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ยั่งยืนเนื่องจากมะละกอไม่มีผลตลอดปี
จึงหันมาปลูกพืชอย่างอื่นผสมผสานกันไป เช่น ตะไคร้ พริก กล้วย ขนุน มะม่วงพันธุ์มหาชนก และมะนาว โดยเฉพาะมะนาวสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดี ซึ่งตนใช้พันธุ์แป้นพิจิตรปลูกในบ่อซีเมนต์ 100 บ่อ ขณะนี้เริ่มให้ผลผลิตลูกใหญ่พิเศษ จำหน่ายลูกละ 3 บาท มีลูกค้ามารับถึงที่ และไปส่งตามออเดอร์ของลูกค้า รายได้ตกวันละ 1,000 บาท
ขณะเดียวกัน มะละกอพันธุ์ครั่งปลูกไว้ 50 ต้น นำพันธุ์มาจากบ้านคุยเชือก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เนื้อผลดิบมีสีขาวขุ่น กรอบมาก มีรสหวาน เหมาะสำหรับการทำส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอีสาน เมื่อออกผลสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท
นอกจากนี้ยังมีพืชผักชนิดอื่น เช่น กล้วย ขนุน มะม่วง รวมถึงไก่ไข่ ไก่เนื้อที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารก็ใช้มูลเป็นปุ๋ยใส่พืชผักลดต้นทุนการผลิต เฉลี่ยรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นบาท ซึ่งพออยู่พอกิน ไม่เดือดร้อนอะไร