ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มน้ำตาลมิตรผลปลื้มแผนการใช้พลังงานทดแทนประสบความสำเร็จ ทุ่ม 56 ล้านบาทผลิตไฟฟ้าบนหลังคาอาคารโมลาส “โซลาร์รูฟท็อป” ที่โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว สามารถลดการใช้น้ำมันดิบได้กว่าปีละ 100 ตัน ขายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟภ.กว่า 1.3 ล้านหน่วยต่อปี ทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุมาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะลงพื้นที่พร้อมสื่อมวลชนไปยังอุทยานมิตรผล อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาโครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” บนหลังคาบ่อเก็บโมลาส และธุรกิจในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนของโรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการด้านพลังงานทดแทนเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและใช้ในเครือโรงงานน้ำตาลมิตรผล
นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลนำแนวนโยบายการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าของ สนพ.มาปรับใช้กับพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกอ้อยได้ โดยติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” บนหลังคาอาคารที่ไม่ได้ใช้ ต่อยอดไปสู่การนำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเริ่มโครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” แห่งแรกที่โรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 56 ล้านบาท ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ขนาด 989 กิโลวัตต์ บนหลังคาอาคารบ่อเก็บโมลาส
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวและบริษัทในเครือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มากกว่า 1.3 ล้านหน่วยต่อปี เทียบเท่ากับการลดใช้น้ำมันดิบได้มากกว่า 100 ตันต่อปี และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 700 ตันคาร์บอนต่อปี
นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถสร้างได้เอง จึงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียน คือโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วย
อุทยานมิตรผล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของกลุ่มมิตรผลเพื่อใช้เชื้อเพลิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ด้วยการนำวัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล คือ ชานอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และนำโมลาส (กากน้ำตาล) หมักกับยีสต์เพื่อผลิตเป็นเอทานอล สำหรับผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์
ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ลดการผลิตใหม่และเพิ่มคุณค่าให้แก่วัสดุที่เหลือใช้ได้อย่างสูงสุด
ขณะที่นายสุมาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความสำคัญด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และกระจายประเภทเชื้อเพลิงให้หลากหลาย สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) มุ่งส่งเสริมเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนภาคเกษตรเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนสัดส่วน 8% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เป็น 15-20% ในปี 2579 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของแผน PDP 2015
“สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ และกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผน ADEP 2012-2021 รวม 3,800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) 2,800 เมกะวัตต์, แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) 200 เมกะวัตต์ และแบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรอีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ” รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าว