กาฬสินธุ์ - โครงการผลิตเอทานอล บริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด ร่วมโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หลังเตรียมขยายกำลังการผลิตใช้ในท้องถิ่น มุ่งลดนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ลานอเนกประสงค์โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายสิริรัฐ ชุมอุปการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานอ้อย นายฉัตรกุล ปาณินห์ ผู้อำนวยการโรงงานบริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามแผนขยายกำลังการผลิตลดการนำเข้าด้านพลังงานเชื้อเพลิง และพลังงานจากต่างประเทศโครงการโรงงานเอทานอลมิตรผล (กุฉินารายณ์) ของบริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด
โดยมีผู้นำชุมชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้กว่า 600 คน
นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า บริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มมิตรผล ตั้งขึ้นเพื่อผลิตเอทานอลบริสุทธิ์จากโมลาส ใช้เป็นเชื้อเพลิงเอทานอลพลังงานทดแทนน้ำมันจากฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญนำวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง คือ กากน้ำตาลมาหมักเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล แล้วกลั่นและแยกน้ำออกจนกลายเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ถึง 99.5% สามารถนำไปผสมน้ำมันเบนซินใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เกิดประโยชน์ในท้องถิ่นและประเทศได้
นายสมชายกล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ตระหนัก และมุ่งเน้นพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ลดการนำเข้าด้านเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงมีแนวคิดขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตเอทานอลอีก 320,000 ลิตรต่อวัน และการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็น 45 MW
โดยทั้ง 2 โครงการมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ภาครัฐและประชาชนได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อพิจารณาป้องกันผลกระทบ สร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป