นครปฐม - สาวพิการนั่งรถเข็นขายสลากกินแบ่งรัฐบาลชาวเมืองนครปฐม ครวญขายสลากราคา 80 บาทตามราคาที่รัฐบาลกำหนดทำให้รายได้หดครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่ผู้ซื้อยังคงซื้อเท่าเดิมไม่มีการซื้อเพิ่ม วอนรัฐลดต้นทุนเหลือ 65 บาท พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดโควตาคนพิการ และหาจุดรับสลากในพื้นที่เพื่อความสะดวก
วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในพื้นที่ จ.นครปฐม ก่อนที่จะมีการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 มิ.ย.58 ซึ่งเป็นงวดแรกที่รัฐบาลได้มีการกำหนดเข้มในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท โดยมีการนำกฎหมายมาใช้จริงจังเพื่อให้การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างเป็นธรรม และตรงตามราคาที่กำหนดในสลาก โดยบรรยากาศยังไม่คึกคักเท่าที่ควร
น.ส.ศิริพร ชี้ทางดี อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 5 ต.หอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม ผู้พิการช่วงขา ซึ่งต้องนั่งรถเข็นมาจำหน่ายสลาก เปิดเผยว่า การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 มิ.ย.58 ซึ่งเป็นงวดแรกที่รัฐบาลได้มีการกำหนดในการจำหน่ายในราคา 80 บาท ในส่วนของตนได้มีการติดป้ายบนแผงจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน และไม่ได้มีการนำสลากกินแบ่งแบบชุดมาจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อรอดูทิศทางพฤติกรรมของผู้ซื้อว่าจะเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นงวดแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 80 บาท ตามที่รัฐบาลกำหนด ตนในฐานผู้จำหน่ายก็ต้องมีการปรับตัวตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจากงวดที่ผ่านมา ได้จำหน่ายในราคา 110-120 บาท เพราะมีต้นทุนที่รับมาไม่ต่ำกว่า 80 บาท แต่ในงวดนี้มีต้นทุนที่รับมาจากเอเยนต์ในราคา 73 บาท ทำให้มีกำไรลดลงกว่า 3 เท่าตัว
“ที่ผ่านมา เรามีรายได้ต่อเดือน 2 หมื่นเศษถือว่าพออยู่ได้ และยังพอจะเลี้ยงแม่ เลี้ยงหลานได้ หลังจากต้องหักค่าผู้ช่วยเหลือเดือนละ 1 หมื่นเศษ แต่งวดนี้บอกได้ว่าเป็นบททดสอบใหม่และแม้ราคาสลากจะลดลง 80 บาท จนลูกค้าบอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยซื้อสลากในราคานี้มาก่อน เช่นเดียวกับเราที่ไม่เคยขายราคานี้มาก่อนเหมือนกัน ลูกค้ารู้สึกดีมาก แต่ดูแล้วยอดการซื้อก็เท่าเดิมคือ คนซื้อ 1 คู่ ก็จะซื้อแค่ 1 คู่ ไม่ได้มีการเพิ่มการซื้อเป็น 2-3 คู่ รายได้เราก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นไปด้วยโดยต้นทุนที่จะทำให้เราอยู่ได้ควรจะอยู่ที่ 65 บาทเพื่อให้ผู้ค้าปลีกอยู่ได้” น.ส.ศิริพร กล่าว
น.ส.ศิริพร บอกอีกว่า งวดนี้รายได้หายไปแล้วค่อนข้างแน่ แต่การแก้ปัญหาของตนคือ การต้องเพิ่มเงินทุนเข้าไปเพื่อจะเพิ่มยอดจำนวนสลากให้มีปริมาณมาก และต้องพยายามเร่งยอดขายให้ได้เพราะต้องมาแบกรับความเสี่ยงที่จะมียอดขายเหลือค้างนี่คือปัญหาที่จะต้องนำมาทบทวนใหม่ว่าจะปรับกระบวนการเรื่องรายรับรายจ่ายของตัวเองได้อย่างไร
“สิ่งที่อยากจะเสนอไปยังรัฐบาลคือ การให้โควตาคนพิการให้มากขึ้น และชัดเจน เพราะตอนนี้เราได้ลงทะเบียนไปที่กองสลากเพื่อขอรับสิทธิโดยพบว่า อยู่ในลำดับที่ 5,049 ของจังหวัดนครปฐมในกลุ่มที่ 204398 โดยไม่รู้เลยว่าจะได้รับโควตาเมื่อไหร่ นี่คือความหวังอีกอย่างที่เราคาดว่าจะได้รับจากรัฐบาล ส่วนปัญหาที่เพื่อนพิการพบเหมือนกันคือ ตอนนี้รายได้ที่เคยได้รับหายไปหลายเท่าตัว รถที่กำลังส่งค่างวดไปแล้ว 30 งวดกำลังจะไม่มีจ่าย และยังไม่รู้จะทนสภาพไปได้อีกกี่เดือน” น.ส.ศิริพร กล่าว
น.ส.ศิริพร กล่าวต่อว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องการมากคือ การจัดสรรสลากสำหรับคนพิการที่ชัดเจน และทั่วถึง เพราะที่ผ่านมา ก็ต้องรับต่อจากเอเยนต์ ต้นทุนก็ไม่เท่ากัน แต่ละงวดก็ต้องปรับทิศทางขายสลากเป็น 110 บาทบ้าง หรือ 120 บาทบ้าง ซึ่งอยากจะเสนอว่าถ้ารัฐบาลจะมีการจัดสรรโควตาให้คนพิการก็น่าจะมีการจัดสถานที่ให้รับสลากเช่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือไปรษณีย์ในพื้นที่นั้นๆ เพราะหากจะให้เดินทางไปรับที่กองสลากก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หากรับสลากใกล้บ้านก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้มาก
“ส่วนตัวเรามีอาชีพเดียวไม่มีโอกาสจะไปทำอาชีพอื่น เราพิการ เป็นอัมพาตมา 20 ปี และเพิ่งมาขายสลากได้ 2 ปี กำลังไปได้ดี เพราะเรามีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าคนปกติ ทั้งยา ผ้าอ้อมสำหรับคนพิการ ค่าผู้ช่วย ค่าเดินทาง ค่าซื้อสลากที่จะต้องเพิ่มขึ้นนี่คือปัญหา ตอนนี้เครียดจนไมเกรนขึ้นทุกวันว่าจะสู้อย่างไรกับเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่ที่เราไม่ทำคือ การติดป้ายขอทริปจากลูกค้า เพราะเราถือว่าเรามีศักดิ์ศรีมากพอเราจะต่อสู้ด้วยกระบวนการขายตามจริง และกลไกของตลาด” น.ส.ศิริพร กล่าว