แพร่ - มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่-เฉลิมพระเกียรติ เปิดเวทีร่วมเครือข่ายภาคประชาสังคม สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ชู “ความรู้หมอเมือง-สมุนไพร” ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูลุ่มน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน เตรียมนำร่องสำรวจ “ทุนเดิม” พื้นที่ “เด่นชัย, วังชิ้น, เมือง และสอง” ก่อน
นางศิริพร กีรติการกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยนายชูชีพ ชีพอุดม ผอ.มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่-เฉลิมพระเกียรติ ได้ร่วมประชุมกับกลุ่มเครือข่ายหมอพื้นบ้าน อ.เด่นชัย และกลุ่มประชาสังคมในจังหวัดแพร่ นำโดยนายอำนวย พลหล้า ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบล นายวิฑูรย์ สุรจิตต์ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน นายรณเกียรติ คำน้อย เครือข่ายหมอเมืองและสมุนไพรท้องถิ่น ที่ห้องประชุมโพธิวงศาจารย์ ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่-เฉลิมพระเกียรติสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เพื่อหาแนวทางจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาให้บรรลุตามยุทธศาสตร์จังหวัดแพร่ เรื่องการจัดการลุ่มน้ำ การจัดการป่าและที่ดิน การพัฒนาสายพันธุ์โคพันธุ์แบล็กโกศัย การแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรท้องถิ่น รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นำไปสู่การร่วมกันสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ซึ่งผลของการหารือร่วมกันทำให้มองเห็นทิศทางและศักยภาพการทำงานระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน การพัฒนาสมุนไพรท้องถิ่นจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในอนาคต เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอีกหลายด้าน ทั้งงานลุ่มน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน เกษตรคุณภาพสูง ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้ข้อมูลพื้นฐานที่แพร่ยังอุดมไปด้วยต้นไม้สมุนไพรหายาก และความรู้การแพทย์พื้นบ้านที่มีอยู่ในทุกหมู่บ้าน ถือเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญที่นักวิชาการจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเข้าสู่งานวิจัยร่วมกัน
นางศิริพร กีรติการกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การได้ประชุมร่วมกับภาคประชาสังคม การได้ฟังเสียงของเครือข่าย ทำให้คณาจารย์ได้ทราบถึงบริบทของชุมชน และความต้องการที่จะพัฒนาได้ชัดมากกว่านักวิชาการคิดเองในห้องทำงาน ซึ่งแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นแตกต่างจากฐานคิดเดิมของนักวิชาการเป็นอย่างมาก
“ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนที่มีการทำงานกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลสุขภาพของสมาชิกในชุมชน ที่ใช้สมุนไพรเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ถือเป็นคุณค่าสูงของสังคม”
ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ความรู้เหล่านี้ได้รับใช้สังคมในยุคต่อไป และทำอย่างไรให้เกิดผลในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการลุ่มน้ำป่าไม้ให้มีความเหมาะสมอย่างไร ซึ่งถ้างานวิจัยเหล่านี้เป็นของชุมชนและตอบสนองชุมชนได้จริง สิ่งที่เป็นนโยบายของจังหวัดแพร่ก็จะเดินไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก
นายรณเกียรติ คำน้อย เครือข่ายหมอพื้นบ้านอำเภอเด่นชัย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ายินดี ที่คณาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เห็นความสำคัญของการพัฒนา ที่ใช้การบูรณาการระหว่างประชาชนทั่วไปกับนักวิชาการ การประชุมทำให้เห็นร่วมกันในการยกเอาประเด็นต้นไม้สมุนไพร และการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญามาเป็นแกนหลักในการพัฒนางานวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดแพร่ร่วมกัน ทำให้งานวิจัยลงถึงมือประชาชน คือ การทำงานวิจัยไปพร้อมกับงานพัฒนา ซึ่งผลวิจัยก็อาจเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ชาวแพร่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเดินไปข้างหน้าได้
นายอำนวย พลหล้า งานยุทธศาสตร์ สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดแพร่ กล่าวว่า กลไกสำคัญที่จะทำให้งานนี้ไปสู่ความสำเร็จ นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่มีการคิดร่วมกันเดินไปถึงความฝัน
อย่างไรก็ตาม หลังการหารือระหว่างนักวิชาการกับองค์กรชาวบ้าน แผนงานได้ถูกพัฒนาขึ้นมาทันทีภายใต้การทำงานร่วมกัน โดยกิจกรรมแรกที่ต้องทำงานร่วมกันคือ การสำรวจทุนเดิมป่าเมืองแพร่ และแหล่งสมุนไพรของชุมชน พร้อมทั้งองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้าน เริ่มจาก อ.เด่นชัย อ.วังชิ้น อ.เมือง และ อ.สอง เป็นพื้นที่นำร่อง นำเข้ามาสู่การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างฐานข้อมูลเพื่อทำการสังคายนาความรู้เหล่านั้น
พร้อมทั้งการสำรวจความต้องการใช้ความรู้และตัวยาสมุนไพรในล้านนาตะวันออกเพื่อเป็นทิศทางพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจของชุมชน รองรับการเปิดประชาคมอาเซียนไปพร้อมกัน ก่อนนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ นำออกเผยแพร่และปฏิบัติจริง ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ปีในการทำงาน