พิจิตร - รองประธานสภา อบจ.เมืองชาละวัน พร้อมทนายความ ยื่นหนังสือถึงแบงก์กรุงไทยรอบที่ 3 ตามทวงเงินที่หายไปจากบัญชี หลังถูกอดีตพนักงานปลอมลายเซ็นเช็คขึ้นเงิน 18 ครั้ง สูญไปกว่า 6 ล้านบาท พร้อมโชว์ให้เห็นจะจะลายเซ็นของจริง-ของปลอม ยันแตกต่างกันชัดเจน ครวญเหตุเกิดมาร่วม 2 เดือนแบงก์กลับนิ่ง
วันนี้ (11 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าจากกรณีที่นายพิศ วิริยะอารีธรรม หรือ ส.จ.พิศ รองประธานสภา อบจ.พิจิตร นักธุรกิจชื่อดังของพิจิตร ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมือง และ สภ.สากเหล็ก หลังถูกอดีตพนักงานในบริษัทขโมยสมุดเช็คไป 2 เล่ม แล้วปลอมลายเซ็นไปขึ้นเงินกับธนาคารกรุงไทย สาขาสากเหล็ก และสาขาราษฎร์เกษมอุทิศ รวม 18 ครั้ง ทำให้เงินในบัญชีที่มีอยู่ที่สาขาพิจิตรหายไป 6.3 ล้านบาท
ล่าสุดนายพิศ พร้อมด้วยนายสมชาย วทัญญูคุณากรณ์ ทนายความส่วนตัว ได้เข้ายื่นหนังสือต่อธนาคารกรุงไทย ฉบับที่ 3 ว่าขอให้ผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งบอร์ด เร่งคืนเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากธนาคารปล่อยให้เช็คมีลายเซ็นปลอมมาเบิกเงินไปได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ขาดความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบลายมือชื่อ ทั้งที่ลายมือชื่อของจริงกับลายมือชื่อของปลอมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ นายพิศ พร้อมทนายความยังได้นำตัวอย่างลายมือชื่อของจริงกับของปลอมมาแสดงให้นายสุขเสริม ไพบูลย์สิริ ผู้จัดการสาขาอาวุโสธนาคารกรุงไทย สาขาพิจิตร และสื่อมวลชนดู ซึ่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
ด้านนายสุขเสริมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทางผู้บริหารของสำนักงานใหญ่รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องนำหลักฐานเช็คทั้ง 18 ใบไปให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐานและชี้ออกมาก่อน ส่วนผู้บริหารจะตัดสินใจชดใช้หรือไม่ตนไม่สามารถจะตอบได้ แต่จะเร่งอำนวยความสะดวกตามที่ตำรวจขอมา ซึ่งก็ยอมรับว่าเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อยังอยู่ที่ตนเอง ยังไม่ได้ส่งให้ตำรวจ เนื่องจากต้องรอคำสั่งจากผู้บริหารก่อน
นายสมชายกล่าวว่า คดีนี้ไม่น่าจะสลับซับซ้อน เนื่องจากผู้ต้องหาก็รับสารภาพ และถูกฝากขังที่เรือนจำพิจิตร และขณะนี้ได้ไปยื่นขอต่อศาลอุทธรณ์เพื่อประกันตัวอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่ถูกจับขึ้นโรงพักวันแรกญาติของจำเลยก็ขอเข้าเจรจา โดยเอาเงินสด 1 ล้านบาทไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาราษฎร์เกษมอุทิศ และรถเก๋งป้ายแดงมูลค่า 1.3 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นเงินที่ได้จากการกระทำผิดมาวาง และต่อรองขอให้ไม่ให้เอาเรื่อง
แต่ทรัพย์ที่นำมาวางดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของธนาคารกรุงไทย แต่ก็ปรากฏว่าเวลาผ่านไปเกือบ 60 วันแล้วไม่เคยมีเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายกฎหมายของธนาคารกรุงไทยมาทำการดำเนินคดีหรือแจ้งความแต่อย่างใด ทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน จนวันนี้ผู้ต้องหาได้ประกันตัว ส่วนญาติที่ว่าเอาเงิน 1 ล้านบาทมาฝากไว้กับธนาคารกรุงไทยก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนใจ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ปลอมลายมือชื่อเช็คเบิกเงินดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 58 จากนั้นก็ได้สืบจนทราบว่าผู้ที่กระทำผิด คือ น.ส.กัญญ์ณณัฐ อยู่บุญ หรือมด ที่เข้ามาสมัครเป็นพนักงานบัญชีของบริษัท พ.วิริยะก่อสร้าง จำกัด ของนายพิศ แต่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการเบิกหรือถอนเงิน เริ่มทำงานตั้งแต่เดือน ก.ค. 57 จากนั้นไม่นานก็ลาออก นำเช็คไปเบิกเงินถึง 18 ครั้ง ได้เงินจากธนาคารกรุงไทย สาขาสากเหล็ก และสาขาราษฎร์เกษมอุทิศ รวม 6,310,000 บาท
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย. 58 ตำรวจออกหมายจับ และควบคุมตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดี ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทนายจึงคัดค้านการประกันตัว และมีการส่งตัวผู้ต้องหาฝากขัง 3 ผลัด เป็นเวลา 36 วัน
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้มีการแจ้งอายัดสมุดเช็คทั้ง 2 เล่ม พร้อมกับประสานนายสุขเสริม ไพบูลย์สิริ ผู้จัดการสาขาอาวุโสธนาคารกรุงไทย สาขาพิจิตร ว่าขณะนี้ตนเองเสียหายเพราะถูกผู้ต้องหาปลอมลายมือชื่อไปถอนเงิน ดังนั้นธนาคารกรุงไทยต้องเป็นโจทก์ดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาเพื่อเอาเงินมาคืน ส่วนตนก็จะดำเนินคดีอาญาที่ถูกลักสมุดเช็ค ปลอมลายมือชื่อถอนเงิน ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปแล้วถึง 2 ฉบับ แต่ปรากฏว่าผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยดูเหมือนยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งที่เหตุการณ์เกิดมาแล้วเกือบ 2 เดือน