xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ประเด็นโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะเป็นโอกาสหรือวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้ประเด็นโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะเป็นโอกาส หรือวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอนาคต หลังปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการเร่งรัดให้เกิดการแปรรูปขยะวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะทั่วประเทศ 53 แห่งทั่วประเทศ เกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และไอสารปรอทปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ได้เสนอความข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะ หลังปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการเร่งรัดให้เกิดการแปรรูปขยะวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะทั่วประเทศ จำนวน 53 แห่ง และตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาขยะถึง 227.5 เมกะวัตต์ และได้เร่งดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่า มีกลุ่มประชาชนเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ออกมาต่อต้านคัดค้านไม่ให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ของตน เนื่องจากเกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และไอสารปรอทปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

โดยในวันนี้ (4 มิ.ย.) ได้มีการสัมมนาเรื่อง โรงไฟฟ้าขยะทางออกที่ยั่งยืนหรือวิกฤตสิ่งแวดล้อมรอบใหม่ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดยสภาอุตสาหกรรม ดังนี้

1.โรงไฟฟ้าจากขยะจะได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย และญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย มีกฎหมายที่เข้มงวดในการให้ประชาชนคัดแยกขยะมาจากบ้านเรือน และส่งเสริมให้มีการนำขยะกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ มีการแยกขยะที่สามารถเผาได้ออกมาจากขยะประเภทอื่นๆ พวกเศษอาหาร สารอินทรีย์ต่างๆ มีความชื้นน้อยกว่าร้อยละ 40 ทำให้เผาไหม้เกิดความร้อนสูง ง่ายต่อการนำไปเป็นเชื้อเพลิงเผาได้พลังงาน

ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่กว้างใหญ่ และสั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตั้งแต่ คศ.1995 เป็นต้นมา เนื่องจากประชาชนคัดค้าน และกังวลต่อสารไดออกซิน/ฟูแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มีกฎหมายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข็มแข็ง มีกฎหมายให้ประชาชนคัดแยกขยะจากบ้านเรือน โดยแยกเศษอาหาร และสารอินทรีย์ออกมานำเข้าโรงงานทำปุ๋ยหมัก ได้ปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าซมีเทนเป็นพลังงาน นำไปทำน้ำร้อน และพลังงานไฟฟ้าบางส่วนต่อไป

ส่วนขยะพิษชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น จะนำออกมาไปกำจัดแยกต่างหาก ขยะส่วนที่เหลือนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

2.แนวคิดในการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะควรมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
 
2.1.ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขยะ ปริมาณขยะในพื้นที่ต้องมีอย่างเพียงพอ คือ มากกว่า 300 ตันต่อวัน เพื่อให้ให้โรงไฟฟ้าฟ้าขยะเป็นเสกลที่ใหญ่ และคุ้มทุนในการดำเนินการ พื้นที่ตั้งควรอยู่ห่างจากชุมชนอย่างน้อย 1-5 กม.โดยมีขนาดอย่างน้อย 100 ไร่ ไม่มีปัญหาน้ำท่วม มีเส้นทางให้รถบรรทุกขยะเข้ามาได้โดยไม่ผ่านชุมชน และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ในการสนับสนุนให้ตั้งได้

โดยโครงการต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจจากชุมชน รวมทั้งต้องให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการประกอบกิจกรรมดังกล่าวด้วย และต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ชัดเจน พร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ โครงการต้องเข้าถึงของสายส่งเพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ง่าย

2.2.ด้านเทคโนโลยี จะต้องมีกระบวนการแยกพลาสติก PVC สาร Benzene ขวดแก้ว ขยะพิษ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องเสปรย์ เป็นต้น ออกมาก่อน ความชื้นขยะที่เข้าเตาเผาควรต่ำกว่าร้อยละ 40 ค่าความร้อนจากการเผาไหม้ขยะต้องสูงกว่า 800 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม อุณหภูมิในห้องเตาเผาต้องประมาณ 850-1,300 องศา มีระบบเผาก๊าซในห้องที่ 2 โดยมีช่วงเวลา 2 วินาที อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,100 องศา

รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์กำจัดมลพิษทางอากาศพวกไอกรด โลหะหนัก ฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารไดออกซิน ครบถ้วน มีกระบวนการจัดการเถ้าหนัก และเถ้าเบาซึ่งเป็นที่รวมของสารไดออกซิน และโลหะหนักให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมต้องถูกดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งที่ปลายปล่อง และในสิ่งแวดล้อม ที่ปลายปล่องควรทำเป็นระบบตรวจวัดอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ ควรตรวจสารไดออกซิน ไอโลหะหนักทุกเดือน ควรตั้งสถานีตรวจวัดมลพิษทางอากาศบริเวณชุมชนด้านท้ายลม และเหนือลมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตรวจวัดฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไชด์ สารไดออกซิน ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น

3.รัฐบาลควรเน้นให้เกิดกระบวนการแยกขยะ และกำจัดขยะแบบผสมผสานกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปริมาณ และประเภทของขยะแตกต่างกันมากกว่าความต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าจากขยะแต่เพียงอย่างเดียว ได้แก่

- การหมักทำปุ๋ยหมัก สำหรับพื้นที่ที่มีเศษอาหาร และสารอินทรีย์ทั่วไปจำนวนมาก โดยกระบวนการ BIO -reactor เป็นหมักขยะแบบไร้ออกซิเจน ได้ก๊าซมีเทน และปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณขยะประเภทสารอินทรีย์ค่อนข้างมาก

- การเผา เน้นขยะประเภทที่ที่เผาได้ วัสดุเหลือใช้ เศษอาหาร ผลิตไฟฟ้าได้ ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณขยะสะสมมาก หรือในพื้นที่ที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้านขยะตกค้าง

- การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ใช้ได้ดีในพื้นที่ที่มีที่ดินราคาไม่แพงนัก และมีปริมาณขยะทั้งสารอินทรีย์ และขยะทั่วไปสะสมในระดับปานกลาง

4.ข้อห่วงใยจากภาคประชาชน คือ เรื่องกฎหมายการจัดการขยะโดยการเผาที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ใครเป็นผู้เห็นชอบต่อเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาเสนอให้ท้องถิ่นดำเนินการ ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากโครงการ และหากตรวจสอบแล้วพบว่า เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดจะสั่งให้โรงไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวหยุดดำเนินการหรือไม่

นอกจากนี้ ยังไม่มั่นใจว่าท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการ และดูแลโรงไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประชาชนยังขาดความมั่นใจในการดูแล และการจัดการปัญหามลพิษทั้งสารไดออกซิน และโลหะหนักของหน่วยราชการ ด้วยปัจจุบันความล้มเหลวที่เห็นชัดเจนคือ การที่รัฐส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ เน้นขายไฟฟ้าให้รัฐ แต่สุดท้ายถูกประชาชนต่อต้านทั่วประเทศ เนื่องจากการที่มีงบลงทุนค่อนข้างน้อย วัสดุขาดแคลน และขาดการกำกับดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจังจึง ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก

“ดังนั้น นโยบายเรื่องโรงไฟฟ้าขยะภาครัฐจะต้องมองภาพรวมของการจัดการปัญหาขยะทั้งประเทศมากกว่าการเน้นให้ภาคเอกชนมาลงทุน และหวังกำไรจากการขายกระแสไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว” นายสนธิ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น