เอเอฟพี – กรุงลิสบอน และประเทศลักเซมเบิร์ก ได้รับการจัดอันดับเป็นที่โหล่ในบรรดาเมืองยุโรปที่มีมาตรการต่อสู้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ขณะที่นครซูริก และกรุงโคเปนเฮเกน มีคะแนนนำสูงสุดในภูมิภาค เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยวันนี้ (31 มี.ค.)
ดับลิน, กลาสโกว์, มาดริด และ โรม ล้วนถูกจัดอยู่อันดับท้ายตารางจากการสำรวจใน 23 เมืองใหญ่โซนยุโรปตะวันตกโดยกลุ่ม เฟรนด์ ออฟ ดิ เอิร์ธ เยอรมนี
“ลิสบอน และลักเซมเบิร์ก ถูกจัดอยู่อันดับบ๊วยสุด เพราะดูเหมือนจะมีความพยายามแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างครึ่งๆ กลางๆ” นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ ระบุ พร้อมอธิบายว่า ทั้งสองแห่งมีมาตรการอ่อนแอที่สุดในบรรดาเมืองยุโรปด้วยกันในแง่ของการลดมลพิษ, ห้ามรถที่ปล่อยควันดำใช้ถนน, สนับสนุนการใช้งานรถประจำทางหรือขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้พลังงานสะอาด, ให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ, ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน รวมไปถึงเชิญชวนให้คนหันมาเดิน หรือขี่จักรยานกันมากขึ้น
ช่องว่างระหว่างลิสบอนและลักเซมเบิร์กกับเมืองอันดับท็อปลิสต์นั้น ถือว่าห่างไกลกันมากทีเดียว
“ในซูริกและเมืองที่ติดอันดับต้นๆ เช่น โคเปนเฮเกน ปริมาณการใช้ลดรถยนต์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และทางการก็มีนโยบายจำกัดการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยไอเสีย เช่น รถเครื่องดีเซล รถบรรทุก และเครื่องจักรกลก่อสร้าง”
ผลการศึกษาชิ้นนี้ใช้ระบบจัดเกรดเหมืองโรงเรียนในสหรัฐฯ โดยให้นครซูริกของสวิตเซอร์แลนด์ได้ B+ ส่วนกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก และกรุงเวียนนาของออสเตรีย ได้ B เท่ากัน
กรุงสตอกโฮล์มได้ B- ส่วนเมืองหลวงเยอรมนี (กรุงเบอร์ลิน) ได้ C ในขณะที่เฮลซิงกิ, ลอนดอน, ปารีส, และเมืองสตุตการ์ดในเยอรมนี ได้ C- เท่ากันหมด
กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ และเมืองกราซในออสเตรีย ได้เกรด D+ ส่วนเมืองดุสเซลดอร์ฟในเยอรมนี, เมืองลียงของฝรั่งเศส และกรุงบรัสเซลส์ ได้เพียง D
บาร์เซโลนา, มิลาน และกรุงปรากของสาธารณรัฐเช็ก ถูกจัดเกรดไว้แค่ D-
ดับลิน, มาดริด, โรม และกลาสโกว์ ได้คะแนนถึงขั้นติด F แต่ในภาพรวมยังถือว่าดีกว่าเมืองหลวงของโปรตุเกส และราชรัฐลักเซมเบิร์ก
ผลวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (European Environmental Bureau) ซึ่งเป็นแนวร่วมองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า