xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ลุยตรวจเชือดพยาบาลแสบปลอมลายเซ็นกว่าพันคนโกงเงิน รพ. เร่งสอบย้อนหลัง-สาวหาผู้ร่วมแก๊ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุทธิพงษ์  บุญนิธิ  ผอ.สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4  สตง.ร่วม สตง.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารและระบบบัญชีทั้ง 12 โครงการ ที่พยาบาลวิชาชีพรพ.สตึก ปลอมลายเซ็นกว่า 1 พันคน ทุจริตเงินกว่า 2.7 ล้านบาท วันนี้ ( 4 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - ผอ.สำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 4 สตง. ร่วมกับ สตง.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารและระบบบัญชีทั้ง 12 โครงการ ที่พยาบาลวิชาชีพ รพ.สตึกปลอมลายเซ็นกว่า 1 พันคนทุจริตเงินโรงพยาบาลกว่า 2.7 ล้านบาท เบื้องต้นพบเจตนาทุจริตโดยการทำเอกสารเท็จเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของรัฐ ทั้งเตรียมสอบเบิกจ่ายเงินย้อนหลัง 1 ปี และสาวหาผู้ร่วมกระทำผิด

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 4 (นครราชสีมา) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมด้วยนางทัศศิณา ประไพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เข้าทำการตรวจสอบเอกสารและระบบบัญชีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้ง 12 โครงการที่โรงพยาบาลสตึก

หลังจากทางสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตึก ได้เข้าแจ้งความว่า นางวิภานันท์ อ่อนวิจารย์ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการโรงพยาบาลสตึก ได้ปลอมแปลงลายเซ็นและลายมือชื่อสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม.กว่า 1,000 คนเพื่อยักยอกเงินงบประมาณของรัฐกว่า 2.7 ล้านบาทไปใช้จ่ายส่วนตัว

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า นางวิภานันท์มีเจตนากระทำทุจริตโดยการทำเอกสารเท็จเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของรัฐ พร้อมกันนี้ยังจะทำการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณย้อนหลังอีก 1 ปี และสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อมูลหลักฐานว่ามีการทุจริตโครงการอื่นด้วยหรือไม่และมูลค่าในการทุจริตมากน้อยเพียงใด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดร่วมกระทำผิดด้วย เพราะเชื่อว่าการทุจริตในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้เพียงคนเดียว

ดังนั้น จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารและสอบพยานบุคคล 2-3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ระบุว่า สำหรับเอกสารที่ทำการตรวจสอบแล้ว รวมถึงวัตถุพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทำการอายัดไว้ เพื่อป้องกันการสูญหาย และหากตรวจสอบแล้วเสร็จก็จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดส่งให้ทางตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อพิจารณาเอาผิดตามขั้นตอน เพราะการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินมีความผิดทั้งวินัย อาญา ความผิดทางวินัยและการคลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น