xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” ถกร่วม 3 ฝ่ายไทย-อินโดนีเซีย-พม่า ต่อต้านการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ดีเอสไอ” ถกร่วม 3 ฝ่าย ไทย-อินโดนีเซีย-พม่า ต่อต้านการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง พร้อมเผยไทยคาดหวังว่าจะได้ลดระดับจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2

วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี โครงการออสเตรเลีย-เอเชีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Australia-ASIA Program To Combat Trafficking in PERSONS) หรือ AAPTIP จัดการประชุมร่วมสามฝ่ายระหว่างประเทศอินโดนีเซีย พม่า และไทย เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง การสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจาก 3 ประเทศ รวมกว่า 30 คน เข้าร่วมระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายนนี้

พลตำรวจจัตวาเฮรี่ พลัสโตโว หัวหนัาคณะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีโอกาสเข้าร่วม จึงจะใช้เป็นโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อกำหนดกรอบ และทิศทางการบังคับใช้กฎหมายมาปฏิบัติใช้ในการขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว

ทางด้าน พลตำรวจจัตวา วิน ไนย ทุน หัวหน้าคณะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายประเทศพม่า กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังต่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง สำหรับพม่าถือว่าเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานงานร่วมกับประเทศไทยมาโดยตลอด หลังลงนามเอ็มโอยูร่วมกันตั้งแต่ปี 2009 และมีการหารืออยู่เป็นประจำทุก 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งคือ เรื่องการสืบสวนสอบสวน และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้หารือร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการปฏิบัติของทั้ง 3 ประเทศ

ด้าน นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ต้องขอบคุณ AAPTIP ที่จัดโครงการที่มีประโยชน์ ซึ่งจะเกิดผลดีอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของ 3 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศกลางทาง สำหรับประเด็นกฎหมายนั้นถือเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมาย และการบังคับใข้ที่แตกต่างกัน การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต

สำหรับประเด็นการหารือนั้นจะมีเรื่องของปัญหา “โรฮีนจา” หรือไม่นั้น จริงๆ แล้วการประชุมครั้งนี้คงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมประมงเป็นหลัก ส่วนกรณีของ “โรฮีนจา” นี้คงเป็นการรายงานสถานการณ์ต่อที่ประชุมว่าพอจะมีแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างไร จากนั้นก็คงจะนำสรุปเพื่อเสนอแนวทางต่อรัฐบาลต่อไป

นางสุวณา กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ไทยถูกระบุว่า มีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ในระดับเทียร์ 3 นั้น เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้วที่เราพยายามแกัไข ซึ่งการประชุมร่วมครั้งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ที่จะมีการประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ก็หวังว่าไทยจะได้รับการปรับลดอันดับลงมาเป็นเทียร์ 2 เพราะจากความจริงใจ และใส่ใจในการแก้ไขปัญหาของไทย

สำหรับการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่างไทย อินโดนีเซีย และพม่า แบ่งการหารือร่วมเป็น 3 ช่วง โดยช่วงเช้า เป็นการเปิดประชุม ส่วนภาคบ่าย เป็นการเปิดเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านความต้องการของแต่ละประเทศ เพื่อการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ และข้อจำกัดของแต่ละประเทศในการบรรลุความต้องการของประเทศคู่ภาคี



กำลังโหลดความคิดเห็น