xs
xsm
sm
md
lg

จี้ดีเอสไอรับคดี บ.บุหรี่นอกชื่อดังเลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านไม่คืบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กลุ่มเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กทม. ร้อง ดีเอสไอหลังรับคดี บ.บุหรี่นอกชื่อดัง เลี่ยงภาษี 68,000 ล้านบาท เป็นคดีพิเศษเมื่อปี 49 แต่ไม่คืบหน้า

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 10.00 น. นายคำรณ ชูเดชา ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กรุงเทพฯ พร้อมด้วย ผู้นำชุมชน และแกนนำเยาวชน กรุงเทพฯ ประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีบริษัท ฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งราคา C.I.F. ของบุหรี่นำเข้าต่ำกว่ามูลค่าจริง ทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้มากกว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอได้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2549 โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง

นายคำรณ กล่าวว่า ทางเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กรุงเทพฯ ได้ติดตามกรณี บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ได้สำแดงเท็จการนำเข้าสินค้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้ค่าภาษีที่รัฐควรได้หายไปกว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 - 2552 และในวันที่ 3 ส.ค. 2549 ดีเอสไอได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเวลาผ่านมาแล้วเกือบ 10 ปี แต่คดีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าว ยังพยายามแทรกแซงการออก พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ของไทยอีกด้วย เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง

สำหรับการเดินทางมาในวันนี้ เพื่อเรียกร้องดีเอสไอ 4 ข้อ คือ 1. ขอให้ชี้แจงต่อประชาชนเพื่อทราบความคืบหน้ากรณีที่ดีเอสไอรับเรื่องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำแดงความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จำนวน 68,000 ล้านบาท เป็นคดีพิเศษ และการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ 2. ขอให้ตรวจสอบว่ามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

3. เรียกร้องให้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส หยุดการแทรกแซงการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ และ 4. ขอให้รัฐบาลไทยมีความกล้าในการตัดสินใจผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ด้วย

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า การดำเนินคดีกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศ) จำกัด ในการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 68,000 ล้านบาท นั้น ดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ 2 คดี คือ คดีที่ 1 มีแหล่งกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งคดีนี้เราได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งปัจจุบันสำนวนคดีดังกล่าว อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้อง โดยเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว ส่วนคดีที่ 2 เป็นคดีที่มีแหล่งกำเนิดที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดยทั้ง 2 คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเดียวกัน แต่เกิดขึ้นต่างสถานที่ ทั้งนี้ เรามองผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้อยู่ 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นการกล่าวหาในการเลี่ยงภาษี ซึ่งจะต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล และ 2. ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน เพราะรัฐเองก็ไม่ได้ส่งเสริมการสูบบุหรี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการยื่นหนังสือต่อดีเอสไอ ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ได้ทำกิจกรรมประณาม “ลงดาบทุนยาสูบข้ามชาติฉ้อ” และแถลงเรียกร้องให้บริษัท ยุติการแทรกแซง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของไทย รวมทั้งขอให้ยุติการจัดตั้งกลุ่ม องค์กรหน้าฉากเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากพิษภัยบุหรี่ เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น