อุดรธานี - สหกรณ์อุดรธานีร่วมกับสหกรณ์การเกษตรอำเภอเพ็ญ จำกัด เปิดเวทีชี้แจงการปฏิรูปและส่งเสริมระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย มุ่งปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพ สร้างเกษตรกรต้นแบบผลิตและพัฒนาข้าวเหนียวไทยสู่เวทีแข่งขันในตลาดโลก
วันนี้ (19 พ.ค. 58) ที่สหกรณ์การเกษตรอำเภอเพ็ญ จำกัด นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมชี้แจงการส่งเสริมระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการข้าว กรมการส่งเสริมการเกษตร และกรมการส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดขึ้น ตามดำริของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสมาชิกสหกรณ์การเกษตรอำเภอเพ็ญ ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมอบรม
ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเป็นพืชที่มีการปลูกมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน เป็นสินค้าที่สำคัญต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของชาวนาไทย นอกจากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ก็ยังได้มีการส่งออกข้าวเหนียวนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิต และการค้าข้าวเหนียวไทย ยังประสบปัญหาทั้งในด้านประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนา การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาด ซึ่งราคาข้าวเปลือกในแต่ละปีจะมีความผันผวนมาก และในอนาคตการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อข้าวเหนียวไทย
เนื่องจากมาตรการด้านภาษีจะถูกขจัดไป ข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านจะไหลเข้าประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงจัดให้มีการประชุมชี้แจงการส่งเสริมระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทยขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพ
รวมถึงจะได้มีการคัดกรองจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรปราดเปรื่องด้านข้าวเหนียว และคัดเลือกเกษตรกรจาก 2 อำเภอเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ คือ อำเภอบ้านผือ และอำเภอเพ็ญ อำเภอละ 40 คน รับการเข้าอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดชลบุรี เพื่อในอนาคตเราจะได้มีเกษตรกรต้นแบบที่ผลิตข้าวเหนียว และพัฒนาข้าวเหนียวเข้าสู่เวทีแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นคู่แข่งด้านการค้าข้าว ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้นเราต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตที่อาจให้ผลผลิตที่สูงขึ้น หรือพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นเพื่อจำหน่ายในตลาดบนให้ได้ และฝากให้เกษตรกรที่ได้รับการคัดกรองให้เข้าร่วมโครงการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดชลบุรี เก็บเกี่ยวความรู้นำมาปฏิบัติและเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ปรับทัศนคติในเรื่องการผลิตข้าวเหนียวไทย เพื่อให้ข้าวเหนียวไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก