xs
xsm
sm
md
lg

มฟล.จับมือรัฐ-เอกชน ถอดบทเรียนดินไหวเชียงราย-เนปาล ดันตั้งศูนย์สอน ปชช.รับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวเชียงราย-เนปาล ทำตำรา ก่อนเปิดอบรมชาวบ้านพื้นที่เสี่ยงรับมือภัยพิบัติ พร้อมเดินหน้าสร้างหลักสูตร ตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้จัดการแผ่นดินไหว

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้รับมอบเงินบริจาคจากตัวแทนนักศึกษา มฟล. คือ ประธานองค์การนักศึกษา นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา นายกสโมสรนักศึกษา จำนวน 13 สำนักวิชาของ มฟล. รวมกว่า 111,000 บาท เพื่อนำไปสมทบช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ผ่านสถานทูตประเทศเนปาล ประจำประเทศไทย

ด้าน ดร.เด่นพงษ์ วงศ์วิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มฟล.เปิดเผยว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 ทาง มฟล.ได้ดำเนินโครงการ “จัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” ขึ้น

โดยร่วมกับสมัชชาสุขภาพ จ.เชียงราย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น เปิดเวทีสาธารณะ ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา สรุปผล ฯลฯ จากนั้นได้นำข้อมูลมาจัดทำเป็นคู่มือ “การจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ภาคประชาชน จากนั้นจะมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และซักซ้อมภาคปฏิบัติให้แก่ตัวแทนชุมชน และองค์กรท้องถิ่นจาก 131 หมู่บ้าน ใน 25 ตำบล ใน 11 อำเภอต่อไป

“เมื่อเรามองจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล และครบรอบ 1 ปีแผ่นดินไหวที่เชียงราย ก็พบเรื่องที่น่าสนใจคือ ชุมชนไม่มีความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ เพราะไม่คาดคิด ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งไม่เคยมีการซักซ้อมแผนรับมือ ไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า ซ้ำซ้อน และไม่ทั่วถึง”

“ดังนั้น ทาง มฟล. จึงได้รวบรวมองค์ความรู้เพื่อเตรียมถ่ายทอดให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถดูแลตนเองได้ โดยไม่ได้หวังพึ่งพาหน่วยงานของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่อยู่บนรัศมีรอยเลื่อนทั้ง 3 แห่งใน จ.เชียงราย คือ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา”

ดร.เด่นพงษ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตเรามุ่งหวังจะสร้างให้เป็นเชียงรายโมเดล เพื่อใช้เป็นเมืองต้นแบบเรื่องการเรียนรู้ และรับมือต่อภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มีการจัดเตรียมคู่มือเพื่อแจกจ่ายให้แก่ตัวแทนของชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรม

เล่มแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทักษะระดับบุคคล ครัวเรือน หน่วยงาน บ้าน วัด โรงเรียน อาคารสำนักงาน โรงพายาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หน่วยงานเหล่านี้ต้องมีศูนย์อำนวยการกลางให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนต้องรู้วิธีเตรียมพร้อมทั้งก่อน และหลังเกิดเหตุ รู้จักวิธีการเอาชีวิตรอด

เล่มที่ 2 จะให้ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับแผ่นดินไหว หลักปฏิบัติสากล และประวัติเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และในอนาคตยังตั้งความหวังจะสร้างหลักสูตรการอบรม และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหว จ.เชียงราย รวมทั้งขยายผลไปยังจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น