เชียงราย - อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานเปิดงานรำลึก 3 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงรายพร้อมเปิดตัวเครื่องวัดแผ่นดินไหวรูปแบบใหม่ทันสมัยที่สุดครอบคลุมภาคเหนือ 40 จุด สั่งจับตารอยเลื่อนแม่จันที่ยังสงบนิ่ง
วันนี้ (5 พ.ค.) ที่เทศบาล ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานในพิธีเปิดงานรำลึก 3 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงราย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นายทศพรกล่าวว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของบันทึกประเทศไทย มีความลึกลงไปใต้ดิน 10 กิโลเมตร โดยเกิดจากรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือด้านพื้นที่ อ.แม่ลาว จากนั้นยังมีการสั่นไหวตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อกอีกร่วม 700 ครั้ง
ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ และติดตั้งเครื่องสถานีวัดคลื่นสั่นสะเทือนแห่งใหม่หลายจุดเพื่อตรวจวัดได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กระนั้นกิจกรรมต่างๆ ก็เพื่อเตือนให้ทราบถึงการมีอยู่ของรอยเลื่อนที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งแม้จะเกิดขึ้นรายวันแต่คนไทยก็นิยมไปท่องเที่ยว สำหรับ จ.เชียงราย ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งสามารถเปลี่ยนความตระหนกให้เป็นตระหนักด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวต่อไป
ด้านนายนัฐวุฒิ แดนดี ผอ.สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวว่าปัจจุบันสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวกำลังติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวรูปแบบใหม่ลึก 30 เมตรซึ่งเป็นเครื่องตรวจวัดระบบใหม่ที่ทันสมัยที่สุดเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกให้ครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 61 จุด
สำหรับภาคเหนือมีจำนวน 40 จุด และมีการติดตั้งที่ จ.เชียงราย ที่ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน อ.เชียงของ อ.เมือง อ.พญาเม็งราย อ.แม่สรวย และ อ.เวียงป่าเป้า จากเดิมที่มีอยู่ที่ อ.เชียงของ สร้างมาตั้งแต่ปี 2549 เพียงจุดเดียวและเป็นเพียงสถานีตรวจวัดด้วยระบบเดิม แต่ระบบใหม่จะเชื่อมโยงไปยังสถานีระบบเดิมทั้งหมดและทำงานร่วมกับสถานีแห่งใหม่ซึ่งจะใช้การขุดลึกลงไปใต้ดิน 30 เมตร โดยเป็นระบบที่สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนขนาดย่อยๆ จนถึงขนาดใหญ่และคัดกรองการสั่นไหวที่ไม่ใช่การสั่นไหวของแผ่นดินได้ทั้งหมด สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงประเทศสหรัฐอเมริกาจึงสามารถแบ่งปันให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เพื่อร่วมคำนวณสถานการณ์ร่วมกัน
นายนัฐวุฒิกล่าวอีกว่า ระบบใหม่ดังกล่าวจะติดตั้งพร้อมใช้งานแล้วเสร็จในปี 2560 นี้ ซึ่งจะแจ้งข้อมูลออนไลน์ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถได้ข้อมูลการสั่นไหวย่อยๆ ได้ทั้งหมดเพื่อนำมาคำนวณสถานการณ์ได้ ทำให้ข้อมูลที่เราเคยทราบว่าพื้นที่ จ.เชียงราย มีรอยเลื่อน 3 รอยเลื่อนใหญ่ คือ รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่จัน และรอยเลื่อนพะเยา ก็อาจจะพบแตกแขนงออกไปได้อีก และผลลัพท์จากการตรวจรายวันที่ได้จะถูกนำมาคำนวนการกระทบกันแบบโดมิโนและสถานการณ์ในอนาคตได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกที่พยากรณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แต่นี่ก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้ว
ผอ.สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวกล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่เชียงรายพบว่ารอยเลื่อนน้ำมาในประเทศเมียนมามีการสั่นไหวเมื่อวันก่อนด้วยความแรง 5.6 ตามมาตราแมกนิจูด ส่วนรอยเลื่อนพะเยาก็ไหวรุนแรงเมื่อปี 2557 และสั่นไหวเล็กน้อยเมื่อ 3 วันก่อน
แต่ที่น่าจับตามองมาก คือ รอยเลื่อนแม่จัน ที่ยังนิ่งอยู่มาก จึงอาจกำลังเก็บสะสมพลังงาน เพราะหากมีการสั่นไหวต่อเนื่องจะเป็นการปลดปล่อยพลังงานออกมาได้มากกว่าและจากความยาวของรอยเลื่อนแม่จันกว่า 200 กิโลเมตร จาก อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน เข้าไปยัง สปป.ลาว ทำให้มีศักยภาพการสั่นไหวได้ถึงระดับ 7 แมกนิจูดได้เลยทีเดียว