เชียงราย - รองอธิบดีกรมอุตุฯ ยกทีมนักวิชาการลุยตรวจพื้นที่เขตแผ่นดินไหวใหญ่เชียงราย หลังเกิดโศกนาฏกรรมเนปาล พร้อมยันแผ่นดินไหวเนปาลไม่กระทบรอยเลื่อนในภาคเหนือแน่
วันนี้ (29 เม.ย.) นายบุรินทร์ เวชบันเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ฯลฯ นำคณะนักวิชาการและสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ด้วยความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ 6.3 แมกนิจูด และเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกนับ 1,000 ครั้ง จนสร้างความเสียหายให้ในพื้นที่ อ.แม่ลาว อ.พาน และอำเภอข้างเคียงรวม 7 อำเภอกว่า 11,173 หลัง และมีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 866,000,000 บาท
โดยทางรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้นำคณะไปรับฟังผลการศึกษาวิจัยในพื้นที่โดยนักวิชาการที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงราย ก่อนลงสำรวจพื้นที่ด้วย
นายบุรินทร์กล่าวว่า ถือเป็นการสำรวจพื้นที่ในช่วงเกือบครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศไทย โดยมีทีมนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้มากว่า 10 ปีให้ข้อมูล ซึ่งจะมีการตรวจสอบสภาพของพื้นที่ อ.แม่ลาว, อ.พาน ที่เคยได้รับความเสียหาย และทางหน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือแก้ไข โดยเฉพาะด้านสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ ยังจะมีการติดตามทางวิชาการเรื่องรอยเลื่อนสำคัญๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวน 14 รอยเลื่อนว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมการเฝ้าระวังในอนาคตต่อไป
“แต่ยืนยันว่ารอยเลื่อนที่ทำให้เกิดการสั่นไหวครั้งใหญ่ที่เนปาลคงจะไม่มีผลต่อรอยเลื่อนในภาคเหนือของไทย เพราะเป็นรอยใหญ่ของแผ่นเปลือกโลก คือ แผ่นยูเรเซีย และอินเดีย ส่วนในภาคเหนือของไทยเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่อยู่ชั้นในเท่านั้น”
นายบุรินทร์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ก็มีรอยเลื่อนใหญ่ที่ต้องเฝ้าจับตาและมีประวัติเคยสั่นไหว เช่น รอยเลื่อนแม่จัน ฯลฯ ที่อยู่ใน จ.เชียงราย และถือเป็นรอยเลื่อนในไทยที่อยู่ใกล้กับทางตอนใต้ของจีนที่มีรอยเลื่อนใหญ่มากที่สุด เคยมีประวัติเกิดการสั่นไหวเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน จนทำให้เกิดตำนานการล่มลายของอาณาจักรโยนก แต่ก็คำนวณไว้ว่าหากเกิดขึ้นอีกก็น่าจะมีความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์อยู่ในขนาด 6-7 แมกนิจูด หรือเป็นระดับกลางๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย เมื่อปี 2557 พบว่าอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างก่อนแผ่นดินไหวไม่ได้รองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางส่วนพบว่าไม่มีการออกแบบเสาให้มีความเหนียวและแข็งแรงพอ
ดังนั้น หลังอาคารเสียหาย และต้องสร้างใหม่ ก็ได้ให้แก้ไขโดยเฉพาะที่โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม ที่ยังคงรูปอาคารแบบเดิม แต่เปลี่ยนโครงสร้างภายใน เช่น เสาให้เป็นทรงกลมแทนเสาเหลี่ยมแบบเดิม เพราะสามารถรับแรงสั่นไหวได้ดีทั้งทางขวาง และทางยาว เหล็กหล่อก็เพิ่มจำนวน หรือความถี่มากกว่าเดิม ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาแรงเฉือน การสั่นไหว ส่วนหลังคาจากเดิมที่ไม่มีคานรองรับ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อน ทำให้วัสดุด้านบนหล่นลงมา ก็มีการทำคานรองรับแล้ว เป็นต้น
สำหรับเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 เกิดจากรอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ ซึ่งทางกรมธรณีวิทยาตรวจพบว่า ด้านใต้เป็นชั้นทราย หรือตะกอนดินอ่อนที่หนาลงไปใต้ดินประมาณ 30 เมตร ระหว่างชั้นผิวดินและหินลึกสุด ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้แรงสั่นไหวมีความรุนแรงมากกว่าการสั่นไหวปกติถึง 1.5 เท่า โดยรอยแยกดังกล่าวเป็นรอยยาวตั้งแต่ อ.พาน อ.แม่ลาว ไปจนถึง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเคยมีประวัติเคยเกิดการสั่นไหวเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนมาแล้ว