xs
xsm
sm
md
lg

“สมิทธ"เตือนใต้ระวังสึนามิรอบ2 เขื่อนกาญจน์เสี่ยงแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ประเทศเนปาล ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า อาจจะเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ในไทยเป็นครั้งที่ 2 ยิ่งการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ขนาด 4.5 ริกเตอร์ ที่เกาะยาว ในช่วงสองวันที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อ "รอยเลื่อน" ในประเทศไทยทั้ง 14 แห่ง และอยากให้ดูข้อเท็จจริงในปีนี้ว่า มีการเกิดแผ่นดินไหวบ่อย ที่จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ จนถนน และบ้านเรือนทรุดตัวจำนวนมาก

“ปัญหาที่ผมกลัว เพราะมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ คือรอยเลื่อนสะแก หรือสกาย เริ่มจากปากแม่น้ำอิระวดี ยาวสุดหัวเกาะสุมาตรา พาดผ่าน จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต เคยเกิดไหวรุนแรงในทะเลห่างจากไทยหลายร้อยกิโลเมตร ยังมีคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ซึ่งระยะเวลาเดินทางของคลื่นแค่ 90 นาที ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังมาก จากการมุดตัวของเปลือกโลกอินเดีย และยูเรซีย มีพลังงานสะสมมากในที่ตั้งภาคใต้ของประเทศไทย ถ้ารอยเลื่อนนี้เคลื่อนตัวอีก จะเกิดสินามิอีกครั้งอย่างรุนแรงขึ้น”

นายสมิทธ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้รอยเลื่อนนี้เข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น และเปลือกโลกมุดตัวมากกว่าครั้งก่อน อยู่ตรงข้าม จ.ระนอง อ.ตะกั่วป่า อาจเกิดใกล้ฝั่งไทย จะมีคลื่นถึงชายฝั่ง คราวนี้จะใช้เวลา เพียง 30 นาที เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนมีพลังเกือบ 10 เส้น ทั้งยังเป็นห่วงรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ใต้เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ล้วนแต่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีความเครียดสะสมของพลังงาน ซึ่งตอนนี้มีมากเต็มที่แล้วหากเกิดรอยเลื่อนใหญ่ แม้ไม่ไหวรุนแรง ก็อาจทำให้เขื่อนแตกได้ และจ.กาญจนบุรี อาจเกิดน้ำท่วมสูงถึง 22 เมตร

สำหรับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ส่งผลให้การสะสมพลังงานมากขึ้นของทุกรอยเลื่อนในประเทศไทย และทำให้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐละเลย ไทยเหมือนแก้วมี 14 รอยร้าว เป็นรอยลื่อนมีพลังงานมีการขยับตัวปลดปล่อยพลังงาน และยังได้รับผลกระทบจากรอยเลื่อนเปลือกโลกที่มีการขยับตัว ส่งกันไปทั่วโลก บางแห่งไหวอยู่ห่างไกลกันเป็นพันๆ กิโล แต่ละเปลือกโลกต่อกันจึงเคลื่อนตัวตามกัน เปลือกโลกยูเรเซีย เปลือกโลกทิเบต อินเดีย มีผลกระทบมาไทย จะเคลื่อนมากหรือน้อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมมาเป็นล้าน ๆ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น