xs
xsm
sm
md
lg

“ปปง.” ประสานโคราชปราบแก๊งนักการเมืองขู่รีดค่าเช่าที่ดินชาวบ้าน 1,200 ไร่ มากว่า 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าฯนครราชสีมา และนายชาญชัยพงศ์ภัสสร ผอ.กองคดี 3 ปปง.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมแก้ไขปัญหาประชาชนถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินโดยไม่ถูกต้อง กว่า 1,200 ไร่ ในพื้นที่ ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 14 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ปปง.รุดประสาน จ.นครราชสีมาปราบแก๊งอิทธิพลนักการเมืองดังสวมรอยเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินชาวบ้านด่านขุดทด 1,200 ไร่ ในคดีแบงก์บีบีซี มากว่า 20 ปี และศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ด้านชาวบ้านกว่า 60 ครอบครัวเดือดร้อนหนักเจอรีดค่าเช่าล่วงหน้า 3 ปี ไม่จ่ายถูกข่มขู่บุกรื้อทำลายพืชผล แจ้งความตำรวจไม่รับแจ้ง ขณะรองผู้ว่าฯ สั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กอ.รมน.ดูแลความปลอดภัย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมอาเซียน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ นายชาญชัย พงศ์ภัสสร ผู้อำนวยการกองคดี 3 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกันเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาประชาชนถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินโดยไม่ถูกต้อง กว่า 1,200 ไร่ จำนวน 61 แปลง ในพื้นที่ ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านหินลาด ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด ที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 60 ครอบครัวประมาณเกือบ 100 คน เข้าร่วมรับฟังด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 ชาวบ้าน ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จำนวน 16 คน ได้เดินทางไปสำนักงาน ปปง. เพื่อร้องเรียนกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นตัวแทนเจ้าของบริษัท เค วาย เอ็น พี จำกัด และมีความใกล้ชิดกับกลุ่มนักการเมืองใหญ่นามสกุลดังใน อ.ด่านขุนทด มาเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินในอัตรา 1,500 บาทต่อไร่ต่อปี และเก็บล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 3 ปี หากชาวบ้านรายใดไม่จ่ายเงินค่าเช่าก็จะไม่ได้ทำกินในที่ดินดังกล่าว พร้อมถูกข่มขู่ขับไล่ และนำรถไถบุกเข้ารื้อทำลายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งดำเนินการมานานกว่า 20 ปีแล้ว

จากการตรวจสอบของ ปปง.พบว่า กลุ่มชาวบ้านจำนวนดังกล่าวเดิมเป็นเจ้าของที่ดิน 61 แปลง มีเอกสารสิทธิ น.ส. 3 เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ได้ขายที่ดินทั้งหมดให้แก่ บริษัท วาย เค เอ็น พี จำกัด เมื่อปี 2538 โดยมีข้อตกลงว่าบริษัทจะให้กลุ่มชาวบ้านเดิมทำกินในที่ดินดังกล่าวโดยการให้เช่า

แต่ต่อมา ปปง.ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินในคดีผู้บริหารธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ซึ่งศาลแพ่งมีคำสั่งตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2557 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2557 ให้ที่ดินทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2557 สำนักงาน ปปง.ได้มีหนังสือส่งมอบที่ดินทั้ง 61 แปลงให้แก่กรมธนารักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว

นายชาญชัยกล่าวว่า เนื่องจากที่ดินดังกล่าว ปปง.ได้ส่งมอบให้กรมธนารักษ์แล้ว ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินต้องให้กลุ่มชาวบ้านดำเนินการเช่าที่ดินทำกินจากกรมธนารักษ์ให้ถูกต้อง ส่วนปัญหาที่เกิดจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลนั้น เชื่อมั่นว่าหน่วยงานส่วนที่เกี่ยวข้องในวันนี้โดยเฉพาะทางจังหวัดนครราชสีมา และฝ่ายความมั่นคงจะหาข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ทั้งนี้ กรณีนี้ ในส่วนขั้นตอนของ ปปง.เสร็จสิ้นไปแล้ว นอกเสียจากจะมีเรื่องใหม่เข้ามาที่เข้าข่ายมูลความผิดกฎหมายฟอกเงิน ทาง ปปง.ก็จะเข้าไปดำเนินการต่อ เช่น เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น” นายชาญชัยกล่าว

ด้านนายบุญยืนกล่าวว่า จากการพูดคุยปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้นที่ควรต้องแก้ไข คือ ชาวบ้านไม่ควรจะต้องไปจ่ายหรือให้งดจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ หากปฏิเสธไม่ได้หรือไม่กล้าที่จะขัดขืนเช่นนั้นก็ให้ใช้กลไกของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือกรรมการหมู่บ้านมาเป็นคนกลางหรือดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ และหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับหมู่บ้านได้ก็ให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจในพื้นที่

โดยจังหวัดฯ ได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสนใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีการกรรโชกทรัพย์หรือฉ้อโกงทรัพย์ประชาชน เพราะได้มีชาวบ้านบางส่วนถูกกลุ่มนายทุนเรียกเก็บเงินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว พร้อมได้มอบหมายให้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดนครราชสีมา จัดกำลังไปดูแลความสงบเรียบร้อยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเกิดความอบอุ่นและพึงพอใจในด้านความปลอดภัย

ส่วนการดำเนินการของธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการรับมอบที่ดินทั้งหมดมาเป็นของกรมธนารักษ์ให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยได้ทำการติดประกาศที่ดินทั้ง 61 แปลงไว้ตามสถานที่สาธารณะ ทั้งบ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

เมื่อครบ 30 วันไม่มีผู้คัดค้าน กรมธนารักษ์จึงจะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบอาณาเขตและสภาพที่ดิน เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการต่อใน 3 ขั้นตอน คือ
1. นำที่ดินมาใช้ในราชการ 2. ขายทอดตลาด และ 3. จัดประโยชน์หรือจัดให้เช่า ซึ่งหากแปลงใดศักยภาพดีอาจเป็นการพาณิชย์หรือที่อยู่อาศัย และสุดท้ายเช่าเพื่อการเกษตรไร่ละ 25 บาท โดยคาดว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้

ขณะที่ นายคำแพง โมงขุนทด อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อน ตอนแรกไม่ยอมขายที่ดินที่มีอยู่ 16 ไร่ให้นายทุน แต่เขาไปกว้านซื้อที่รอบปิดล้อมหมดไม่มีเส้นทางเข้าออก จึงจำเป็นต้องขายในราคาไร่ละประมาณ 10,000 บาท แต่หลังจากนั้นทางนายทุนซึ่งร่วมนักการเมืองได้ให้เช่าเพื่อปลูกมันสำปะหลังต่อ ตนก็จ่ายค่าเช่ามาโดยตลอด แต่เมื่อทราบว่าที่ดินผืนดังกล่าวได้ถูกยึดมาเป็นของรัฐแล้วกลุ่มนายทุนพวกนี้ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าที่ดินล่วงหน้าจากพวกเราอีก หากใครไม่จ่ายเงินให้เขาก็ข่มขู่และเอารถไถเข้ามาไถทำลายทรัพย์สินพืชผลต่างๆ เพื่อขับไล่ออกและให้คนอื่นเข้าเช่าต่อ

“แม้พวกเราไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ แต่ตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่าไม่ใช่ที่ดินของชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มีทางสู้ วันนี้จึงมาร้องขอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ ซึ่งชาวบ้านเองยินดีทำสัญญาเช่าและจ่ายเงินค่าเช่าให้หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริงและถูกต้องตามกฎหมาย” นายคำแพงกล่าว
(ขวา)นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าฯนครราชสีมา และ (ซ้าย) นายชาญชัยพงศ์ภัสสร ผอ.กองคดี 3 สำนักงานปปง.
กลุ่มแกนนำชาวบ้าน



(ขวา) นายคำแพง โมงขุนทด อดีตผู้ใหญ่บ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น