xs
xsm
sm
md
lg

กระแสด้านยุบพิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนีย้งนิ่ง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ เผยยังไม่ได้รับคำสั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ยังเปิดให้เข้าชมตามปกติ หลังมีข่าวเป็น 1 ใน 9 ที่อธิบดีกรมศิลปากรมีแผนที่จะยุบ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ เผยยังไม่ได้รับคำสั่ง และยังไม่พบกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (8 พ.ค.) จากกรณีที่มีข่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี จ.ชัยนาท เป็น 1 ใน 9 พิพิธภัณฑ์ ที่กรมศิลปากร มีแผนจะเสนอยุบรวมพิพิธภัณฑ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.กาญจนา สากระแสร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับคำสั่ง หรือมีหนังสือสั่งการให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ยังคงทำงานกันตามปกติ และพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตามปกติ ส่วนกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับข้อมูลว่ามีชาวบ้าน หรือกลุ่มบุคคลออกมาแสดงการต่อต้านแต่อย่างใด

น.ส.กาญจนา สากระแสร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี กล่าวต่อว่า หากกรมศิลปากรจะยุบพิพิธภัณฑ์ฯ ชัยนาทมุนีจริง ก็ไม่ใช่เป็นการขนย้ายวัตถุโบราณออกนอกพื้นที่ แต่เป็นการส่งคืนพิพิธภัณฑ์ที่กรมศิลปากรดูแลให้แก่ท้องถิ่น หรือวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นผู้ดูแลต่อ โดยจะต้องมีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อหาองค์กรที่จะมาเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อไป

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ตั้งอยู่ที่ ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท ก่อตั้งขึ้นด้วยความสนใจของพระชัยนาทมุนี (นวม สุทตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่มีคุณค่าที่พบในเขตจังหวัดชัยนาท และบริเวณใกล้เคียงมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของวัดเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พระชัยนาทมุนี ยินดีมอบโบราณศิลปวัตถุดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อ พ.ศ.2509 เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของไทย กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ขึ้นในบริเวณใกล้กับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระชัยนาทมุนี เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ พ.ศ.2512 เป็นต้นมา

โดยมีการจัดแสดงเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดชัยนาท มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย “หลวงพ่อเพชร” ศิลปะล้านนาอิทธิพลศิลปะสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องใช้ เครื่องประดับ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยทวารดี ตู้พระธรรม เครื่องบริขารถมปัด ประติมากรรม และเครื่องถ้วยในศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน

นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปสมัยต่างๆ แม่พิมพ์พระพิมพ์ แผงพระพิมพ์ไม้ และพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. เก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม



กำลังโหลดความคิดเห็น