บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์ วัย 51 ปี ประสบผลสำเร็จในการปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ ที่หลายคนบอกว่าไม่สามารถปลูกได้ในภาคอีสานเพราะแห้งแล้ง โดยลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาล พร้อมทำบ่อพัก และติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ทั้งใช้ปุ๋ยคอกที่หาได้จากท้องถิ่น จนผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างจังหวัด สร้างรายได้ปีละ 4-5 แสน
วันนี้ (4 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรีชา มีแก้ว วัย 51 ปี เกษตรกรบ้านหนองปรือน้อย ต.สวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกฝรั่งไร้เมล็ด “พันธุ์กิมจู” บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ส่งขายทั้งใน และต่างจังหวัด สร้างรายได้ปีละหลายแสนบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ลุงปรีชา จะประสบสำเร็จในการทำไร่ฝรั่งแล้ว ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทดลองนำชมพู่ทับทิมจันทร์ ที่หลายคนบอกว่าปลูกได้แต่ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเท่านั้น เนื่องจากเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำมาก แต่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง แต่ด้วยความพยายาม และประสบการณ์จากการทำไร่ฝรั่งมากว่า 20 ปี ลุงปรีชา จึงตัดสินใจไปซื้อต้นพันธุ์ชมพู่ทับทิมจันทร์ จาก จ.นครปฐม มาทดลองปลูก 200 ต้น บนเนื้อที่ 4 ไร่
โดยวิธีขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยาก หลังจากเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกแล้ว ก็ขุดหลุมกว้างประมาณ 1 เมตร ลึก 1 เมตร ใส่ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์ที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วนำต้นชมพู่ลงปลูก ระยะเริ่มปลูกใหม่ควรให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งประกอบกับชมพู่เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ลุงปรีชา จึงใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วติดตั้งปั๊มสูบขึ้นมาพักไว้ในบ่อดิน แล้วเดินท่อติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในสวนชมพู่ ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงสวนชมพู่ได้โดยไม่มีปัญหา
เมื่อต้นชมพู่ มีอายุได้ 2-3 ปี จะเริ่มออกดอก และเมื่อติดผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หากในช่อมีลูกชมพู่ติดกันเป็นจำนวนมากให้ปลิดทิ้งเหลือลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ เมื่อผลมีอายุประมาณ 2 เดือน ก็ให้ใช้ถุงพลาสติกห่อผลที่สมบูรณ์ไว้ช่อละ 3 ผล เพื่อป้องกันแมลงรบกวน โดยแต่ละช่อไม่ควรเกิน 3 ผล เพราะจะทำให้คุณภาพไม่ดี หลังห่อไว้ประมาณ 20-25 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้
ลุงปรีชา ยังเผยถึงเคล็ดลับในการดูแลชมพู่ให้มีสีสด รสชาติหวานกรอบ เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยว่า ต้องเอาใจใส่ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นปลูก หมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ หากพื้นที่ที่แห้งแล้งให้ใช้วิธีสูบน้ำบาดาลขึ้นมาพัก หรือกักเก็บไว้ในบ่อให้เพียงพอ
หลังปลูกมาได้ 3 ปี และให้ผลผลิตเป็นปีแรก เก็บขายมาแล้ว 2 รุ่น ปัจจุบัน มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อชมพู่ถึงสวน และนำไปส่งให้ชาวบ้านวางขายตามเพิงริมถนนวันละ 700 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 35 บาท แต่ละปีสามารถเก็บผลผลิตได้ 3-4 ครั้งๆ ละ 1-2 สัปดาห์ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยปีละ 4-5 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายกิ่งพันธุ์ชมพู่ทับทิมจันทร์ ที่จำหน่ายต้นละ 30 บาทอีกด้วย
ลุงปรีชา ถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ใช้ความพยายาม อดทน และไม่หยุดที่จะหาวิธีฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่ไม่สามารหลีกเลี่ยงได้มาทดลองปรับใช้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรจนประสบผลสำเร็จ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวโดยไม่ลำบาก ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย