xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! เปลี่ยนเตาชีวมวล ทำลายวิถีต้มเกลือโบราณเมืองน่าน-ท่องเที่ยวเสี่ยงสิ้นเสน่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - สังคมโลกออนไลน์ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างถิ่นวิจารณ์กันสนั่น โครงการทดลองเปลี่ยนเตาชีวมวล-ประหยัดพลังงาน ทำลายวิถีต้มเกลือโบราณ เสี่ยงทำการท่องเที่ยวสิ้นเสน่ห์ คนในตระกูลต้มเกลือเก่าแก่ค้านสุดตัว ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนบอกขอเวลาพิสูจน์ 1 เดือนลดต้นทุนจริงหรือไม่ก่อนตัดสินใจ

วันนี้ (28 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการแชร์ภาพการรื้อเตาต้มเกลือโบราณ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน แล้วสร้างเตาใหม่ โดยใช้เหล็กทำโครงสร้างแทน พร้อมระบุข้อมูลประกอบภาพว่า “เป็นเตาประหยัดพลังงาน เพื่อทดแทนเตาต้มเกลือแบบดั้งเดิม” ตามโครงการพลังงานทดแทนเพื่อชุมชน การสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาต้มเกลือชีวมวลสำหรับชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

หลายความคิดเห็นมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระทบต่อวิถีการต้มเกลือภูเขาแบบดั้งเดิมของชาวบ่อเกลือ และการท่องเที่ยว ที่คนกำลังนิยมเดินทางมาเที่ยวชมบ่อเกลือโบราณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือก็มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการสร้างเตาประหยัดพลังงาน

นางอนงค์ เขื่อนเมือง อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 1 บ้านบ่อหลวง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน หนึ่งในผู้ประกอบการต้มเกลือ เปิดเผยว่า ได้ทำอาชีพต้มเกลือโบราณมากว่า 40 ปี ก่อนหน้านี้ได้ใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งจะต้องใช้ฟืนไม้ แต่ปัจจุบันหายาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้มงวดในการเข้าหาไม้ฟืนในป่า จนต้องซื้อฟืนที่มีราคาสูงขึ้น ราคาตารางเมตรละ 400 บาท นอกจากนี้ยังต้องสูดดมควันไฟมีผลต่อสุขภาพ ขณะที่ต้นทุนการต้มเกลือสูงขึ้น ทำให้มีรายได้จากการขายเกลือแค่พออยู่ได้ บางครั้งถึงกับขาดทุน

ล่าสุดจึงตัดสินใจปรับโรงต้มเกลือของตนเองเพื่อทดลองทำเตาแบบใหม่จำนวน 1 เตา ซึ่งจะต้องทำการลงบันทึกเป็นระยะเวลา 1 เดือนเพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า หากไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็จะกลับไปใช้เตาดินเหนียวเหมือนเดิม

นายณัฐกัณต์ เขื่อนเมือง อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 12 หมู่ 1 บ้านบ่อหลวง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ผู้ประกอบการต้มเกลืออีกราย เล่าว่า ผู้ประกอบการต้มเกลือโบราณ เจอปัญหาเรื่องฟืนไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการต้มเกลือมานาน

กระทั่งเมื่อวันที่ 23-25 เม.ย. 58 ที่ผ่านมามีโครงการพลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ในการสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาต้มเกลือชีวมวลสำหรับชุมชน โดยวิทยาลัยพลังงานทดแทน ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทสาระดี จำกัด ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาร่วมกับผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ภูเขาชุมชนบ้านบ่อเกลือใต้ โดยใช้เตาชีวมวลประหยัดพลังงาน ซึ่งจะใช้เหล็กทำโครงสร้างเตา แล้วขุดหลุมไว้ด้านล่าง และใช้เตาดินเหนียวแบบดั้งเดิมคลุมปิดทับด้านบน ซึ่งตามปกติแล้วเตาดินต้มเกลือแบบดั้งเดิมก็จะต้องมีการทุบเพื่อทำใหม่ในทุกๆ ประมาณ 2 ปีอยู่แล้ว

โดยเตาแบบใหม่จะใช้ทั้งเศษไม้ ซังข้าวโพด หรือแกลบ ฯลฯ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนไม้ และช่วยประหยัดเวลาในการต้มเกลือได้ จากเดิมที่ต้องต้ม 4-5 ชั่วโมง ก็จะใช้เวลาต้มเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

“หากเป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการต้มเกลือสามารถลดต้นทุนเรื่องฟืนไม้ ลดควันไฟขณะต้มเกลือ ชาวบ้านไม่ต้องไปแอบบุกรุกป่าเพื่อหาฟืนไม้และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายป่าไม้”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทำบันทึกข้อมูลเป็นระยะเวลา 1 เดือนเพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างเตาแบบใหม่ซึ่งเป็นเหล็ก ว่าจะทนทานต่อน้ำเกลือ และความร้อนได้มากน้อยแค่ไหน มีอายุใช้งานได้คุ้มค่ากับราคาเตาชุดละกว่า 5,000 บาทหรือไม่ รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายที่จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจากการไปขนซังข้าวโพดจากอำเภอปัวมาใช้แทนไม้ฟืนด้วย

ขณะที่นายจรัล ช่างเงิน อายุ 78 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ 1 บ้านบ่อหลวง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นคนในตระกูลเก่าแก่ที่ทำการต้มเกลือโบราณมาหลายชั่วอายุคน เปิดเผยว่า ทำอาชีพต้มเกลือเป็นอาชีพหลัก มีรายได้จากการขายเกลือและของที่ระลึก เช่น น้ำผึ้งป่า และสินค้าพื้นบ้าน ก็พอเลี้ยงตัว แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเตาแบบใหม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และวิถีดั้งเดิมของชาวบ่อเกลืออย่างแน่นอน

“โรงต้มเกลือของครอบครัวมีอยู่ 2 เตา ไม่เคยมีปัญหาเรื่องไม้ฟืนหรือเรื่องควันไฟที่มีผลต่อสุขภาพ”

ทางด้านนักท่องเที่ยวจากจังหวัดกาญจนบุรีที่เดินทางมาเที่ยวชมบ่อเกลือโบราณเปิดเผยว่า ได้เห็นการต้มเกลือภูเขาโบราณจากสื่อต่างๆ จึงได้เดินทางมาเพื่อดูของจริง ซึ่งรู้สึกทึ่งกับภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก และอยากให้อนุรักษ์เตาต้มเกลือแบบโบราณไว้เพื่อให้ลูกหลาน และนักท่องเที่ยวจากที่อื่นได้มาเห็นเตาต้มเกลือแบบโบราณ ส่วนการพัฒนาเตาแบบใหม่เชิงพาณิชย์การค้าเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มการผลิตเกลือก็สามารถทำได้ แต่ควรอนุรักษ์แบบดั้งเดิมไว้เพื่อการท่องเที่ยวด้วย

นายมานิตย์ บุญเทพ ปลัดอาวุโส อ.บ่อเกลือ กล่าวว่า ได้รับคำสั่งจากนายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้ตรวจสอบประเด็นข้อถกเถียงเรื่องเตาต้มเกลือโบราณที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์เบื้องต้นแล้วพบว่า มีความเข้าใจผิดในโลกโซเชียล เกี่ยวกับเรื่องบ่อเกลือโบราณ ซึ่งมีอายุกว่าพันปี กับเตาต้มเกลือโบราณของชาวบ้าน ซึ่งต้องมีการทุบทำใหม่ทุกๆ 2 ปี

“การทำเตาแบบใหม่เป็นการลดการใช้ไม้ฟืนจากป่า แต่จะไม่กระทบต่อวิถีการต้มเกลือดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม จะจัดการประชุมผู้ประกอบการและประชาชนชาวบ้านบ่อหลวง เพื่อประชุมหารือสร้างความเข้าใจถึงผลดีผลเสีย และหาทางออกร่วมกันในวันที่ 29 เมษายนที่จะถึงนี้อีกครั้ง”





กำลังโหลดความคิดเห็น