ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาในค่ายทหารหัวข้อ “พลังงานปิโตรเลียมกับความรับผิดชอบต่อสังคม” เผยเตรียมเสนอแก้กฎหมายพลังงานเพื่อความเป็นธรรมในวันที่ 7 พ.ค.นี้
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่สโมสรค่ายกาวิละ มทบ.33 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาหัวข้อเรื่อง “พลังงานปิโตรเลียมกับความรับผิดชอบต่อสังคม” โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการและกรรมาธิการที่ศึกษาปิโตรเลียมมาพอสมควร และในวันที่ 7 พฤษภาคมที่จะถึงนี้จะนำกฎหมายปิโตรเลียมมาแก้ไขเพื่อความเป็นธรรม
เรื่องพลังงานของชาติเป็นที่รู้กันอยู่ว่าประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศตะวันออกกลางผ่านทางช่องแคบสิงคโปร์ เรามักจะได้ยินว่าหากเกิดปัญหาน้ำมันดิบส่งมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางไม่ได้ประเทศไทยจะมีพลังงานใช้อีกกี่วัน ภายใต้การจัดการระบบในปัจจุบันประเทศไทยเราจะมีน้ำมันสำรองไว้ใช้เพียงแค่ 6% หรือเพียงแค่ 21 วันเท่านั้น
เรื่องนี้ต้องคิดถึงความมั่นคงให้มากๆ เพราะในแถบประเทศอาเซียนมีการผลิตน้ำมันดิบเช่นกัน อย่างประเทศมาเลเซียที่มีการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบเหมือนประเทศไทย ดังนั้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจเรื่องพลังงานปิโตรเลียม ซึ่งประเทศไทยทางศูนย์วิจัยฯ ได้ตรวจสอบพบว่าทุกพื้นที่ในประเทศนั้นมีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมอยู่ทุกพื้นที่แต่ประชาชนในประเทศไม่รู้ถึงข้อมูลดังกล่าว
ซึ่งพลังงานปิโตรเลียมของไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 เป็นแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ โดยน้ำมันดิบทั้งหมดในส่วนของภาคเหนือจะเอาไว้ใช้งานในราชการ โดยจะอยู่ในความดูแลของทางภาครัฐและทหาร ซึ่งในบ่อน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สามารถผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 60 ล้านลิตร/ปี หรือคิดเป็นเงิน 1,600 ล้านบาท/ปี
เช่นเดียวกับใน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ที่มีการขุดพบเจอบ่อน้ำมันก็สามารถผลิตน้ำมันได้ 2,000 ล้านลิตร/ปี รวมเป็นเงินมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งในประเทศไทยนั้นกฎหมายยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ โดยจะพบเห็นได้ว่าเจ้าของพื้นที่บ่อน้ำมันบางรายมีรายได้ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการขายน้ำมันของบริษัทเอกชนต่างๆ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่สมควรที่จะได้รับผลตอบแทนรองลงมาจากภาครัฐ เพราะเมื่อกลับไปดูถึงอัตราส่วนแบ่งรายได้ของประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่ 6 บาท/ลิตร แต่จะต้องถูกแบ่งให้กับ อบต.ทั่วทั้งประเทศ 2 บาท และต้องแบ่งจ่ายให้กับ อบต.ในพื้นที่ขุดเจาะ 2 บาท และต้องแบ่งให้กับ อบจ.ในพื้นที่ขุดเจาะ 2 บาท ซึ่งโดยสรุปแล้วเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กฎหมายได้ตั้งไว้
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปิโตรเลียมในท้องทะเลนั้น น้ำมันดิบในอ่าวสงขลาปัจจุบันมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 4 ล้านลิตร/วัน หรือ 1,500 ล้านลิตร/ปี รวมมูลค่า 30,000 ล้านบาท/ปี และนอกจากนี้ ทางชายฝั่งปัตตานียังสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 10,000 ล้านลิตร/ปี คิดมูลค่าเป็น 1.1 แสนล้านบาท
ถือได้ว่าในขณะนี้น้ำมันดิบในอ่าวไทยมีคุณภาพเทียบเท่ากับน้ำมันที่ดีที่สุดในโลก เพราะน้ำมันที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันของประเทศไทย และหากมองย้อนกลับไป หากภาครัฐมีการปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมที่ชัดเจนเหมือนในประเทศมาเลเซียที่ประเทศเขามีการร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนที่มีการแบ่งปันกัน ซึ่งรัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตั้งแต่เริ่มต้นการขุดเจาะน้ำมันไปถึงการส่งออก ซึ่งก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งหากประเทศไทยของเราทำได้ก็เชื่อได้ว่าคนไทยของเราจะได้ใช้น้ำมันที่ถูกลง และการดำเนินชีวิตต่างๆ ของคนในประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ในส่วนของ รศ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ความล้าหลังของกฎหมายปิโตรเลียมของประเทศไทยนั้นจะนำมาซึ่งภัยคุกคามของชาติทั้งด้านความมั่นคงทางทหารและทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น ทางออกที่ยั่งยืนของประเทศจะต้องร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาความสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดกับข้อกฎหมายปิโตรเลียมและจะต้องนำไปบริหารให้ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีการสำรองน้ำมันไว้ใช้ 120 วัน ขณะที่ในเอเชียประเทศเกาหลีใต้มีการสำรองน้ำมัน 193 วัน จีน 98 วัน แต่ในประเทศไทยนั้นมีเพียงแค่ 21 วัน ตัวเลขสำรองน้ำมันนั้นแสดงออกถึงการที่ประเทศไทยเรามีการสำรองน้ำมันน้อยกว่าประเทศอื่นมาก
ในฐานะที่เราเป็นประเทศเล็กๆ เราควรจะทำให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งด้านความเป็นอยู่แบบพอเพียง และด้านการทหาร และจะต้องมีการจัดการนโยบายตามเอกราชของตนเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่นเข้ามากำหนดครอบงำ และเป็นที่น่าสังเกตว่าแปลงสัมปทานในอ่าวไทยส่วนมากจะเป็นแปลงนามหรือออกในนามบริษัทของไทยเพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาใช้อำนาจในประเทศ ทางรัฐควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาทั้งหมดอย่างโปร่งใสให้ประชาชนได้รับรู้และสามารถเข้าถึงรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนว่าประเทศไทยเสียเปรียบต่อชาวต่างชาติหรือไม่
การประมาณการผลิตปิโตรเลียมไทยติดอันดับโลก โดยการผลิตก๊าซและการผลิตน้ำมันติดอันดับที่ 24 และ 31 ของโลกตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกลับต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยที่คนไทยต้องใช้น้ำมันเบนซินในราคาที่แพงกว่าสหรัฐอเมริกาลิตรละ 11-16 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่วันละ 300 บาท
ส่วนสหรัฐอเมริกาค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 4,200 บาท ซึ่งเป็นเหตุทำให้ภาคประชาชนเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการปฏิรูปพลังงาน ด้วยการเปลี่ยนนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้แทนการสัมปทานให้เอกชน ซึ่งประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า