พิษณุโลก - สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน เปิดเวทีดึงตัวแทนรัฐ เอกชนเสวนา “ก้าวย่างเศรษฐกิจพิษณุโลก เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” พบวันนี้ GPP รั้งอยู่ที่ 4 ในภาคเหนือตอนล่าง จี้ทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัดใหม่ ชี้ผ่านไปกี่ปีก็ยังย่ำอยู่กับที่ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสารพัดไร้ผล วันนี้ยังเป็นแค่จุดแวะพัก เมืองผ่าน
ผศ.สุพจน์ พฤกษะวัน รองประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก เป็นประธานจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ก้าวย่างเศรษฐกิจพิษณุโลก เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ขึ้นที่ห้องประชุมอาคารทีปวิชญ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมืองพิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ เข้าร่วม เพื่อเตรียมพร้อมจังหวะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
การหารือเป็นไปด้วยความเข้มข้น เมื่อตัวแทนของคลังจังหวัดพิษณุโลก ระบุถึงการจัดทำ GPP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดพิษณุโลก ปี 2555 ซึ่งเก็บข้อมูลครั้งล่าสุด ระบุว่า พิษณุโลก อยู่ลำดับ 4 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ระดับ GPP อยู่ที่ 94,477.09 ล้านบาท (เทียบ GPP ก่อนหน้านี้ ปี 54 ประมาณ 72,000 ล้านบาท) ส่วนอันดับที่ 1 คือ กำแพงเพชร รองลงมาคือ นครสวรรค์ และพิจิตร
คลังจังหวัดพิษณุโลก ชี้แจงว่า การจัดทำ GPP นี้ คลังจังหวัดพิษณุโลก จัดทำเป็นปีสุดท้ายเนื่องจากหลายภาคส่วนมองว่า ข้อมูลไม่ทันสมัย อีกทั้งภาครัฐไม่มีนโยบายดำเนินการต่อ
ด้าน นายณฐกร โซ่จินดามณี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ที่จริงคลังควรทำข้อมูล GPP ต่อเพื่อให้ภาคเอกชนรับรู้สถิติ และทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนแนวทางพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ภาคเอกชนมองว่า จะต้องมีการทบทวนวิสัยทัศน์ หรือยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดพิษณุโลกเสียใหม่ ดูว่าสิ่งไหนทำแล้ว หรือยังไม่ได้ทำ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
และควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเพื่อพิจารณานำเสนอเป็นแผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก หรือจัดทำเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น พิษณุโลกเป็นเมืองบริการ เป็นจริงได้หรือไม่ ที่ผ่านมา มีผลดำเนินการอย่างไร เพื่อนำไปวิเคราะห์ก่อนก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
ผู้เข้าร่วมเสวนาบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของพิษณุโลกหลายปีที่ผ่านมา เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักในแง่เม็ดเงินสะพัดเข้าจังหวัด
เนื่องจากผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอย หรือใช้เงินภายในจังหวัดพิษณุโลก เป็นเพียงคนพิษณุโลกเท่านั้นเอง มีบ้างมาจากจังหวัดเล็กๆ ใกล้เคียง ซึ่งมีกำลังซื้อน้อยมากเมื่อเทียบคนกรุงเทพฯ ที่นำเงินไปใช้จ่ายใช้สอยในภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นทัวร์สูงอายุกลุ่มเดิมๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปี มักแวะนอนพักโรงแรมเดิมๆ ที่พิษณุโลก 1 คืนก่อนขึ้นเหนือ และนำเงินไปใช่จ่ายในภาคเหนือมูลค่าสูงกว่า
ขณะที่ภาคการลงทุน จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ ถือว่าทุนยักษ์ใหญ่จากส่วนกลางเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมาก เช่น โรงเบียร์ โรงน้ำตาล บ่อน้ำมันลานกระบือ ส่วนเขตการลงทุนในพิษณุโลก ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า ผังเมืองเขตสีส้มอยู่บริเวณใด ทำให้ไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก
“ฉะนั้น เศรษฐกิจของพิษณุโลก ยังเป็นเศรษฐกิจแบบต่างจังหวัด ยังดี พอมีเม็ดเงินจากจังหวัดพิจิตร สุโขทัย อุุตรดิตถ์ กระจายไปยังสถานศึกษา หรือเรียกได้ว่า พ่อแม่ส่งลูกมาเรียนยังมหาวิทยาลัยหลายแห่งเท่านั้น ทำให้ดูเหมือนว่า เงินสะพัด ตามห้างสรรพสินค้าดูเหมือนคึกคัก แต่ส่วนใหญ่มักเดิน และจับจ่ายของราคาถูกเท่านั้น”
ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาประเมินกันว่า พิษณุโลก ยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจน ภาคเอกชนยังมองว่า เป็นเมืองบริการสี่แยกอินโดจีน เพื่อให้คนมาใช้บริการแวะพัก ซึ่งนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ก็มองว่า เป็นจุดแวะพัก 1 คืน ก่อนนำเงินไปทุ่มใช้จ่ายในภาคเหนือ เพราะพิษณุโลกราคาที่พักถูก 390-500 บาทต่อคืน ประกอบกับค่าอาหารราคาไม่แพงมากนัก