ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “พ.อ.สมหมาย” หัวหน้าคณะทำงานฯ “ทภ.2” เสนอยกปัญหาบุกรุกป่า อ.ปากช่องโคราช เป็น “วาระแห่งชาติ” ทุกหน่วยงานรัฐร่วมกันเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีรื้อทั้งระบบแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จไม่ปล่อยหมักหมมต่อไป เหตุกระทบผู้คนจำนวนมาก ชี้ผู้ถือเอกสารสิทธิ์จะได้รู้ความจริงและหาทางที่จะอยู่ในพื้นที่ร่วมกันได้ พร้อมเป็นโมเดลนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
วันนี้ (25 เม.ย.) พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าคณะทำงานเพื่อความมั่นคงกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) เปิดเผยถึงปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่าและที่ดินสาธารณะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ในส่วนของพื้นที่สาธารณะที่เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์มักอยู่ในพื้นที่ราบได้มีการตรวจสอบแล้วประมาณ กว่า 100,000 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตรวจสอบไปแล้วประมาณ 90,000 ไร่กระจายทุกอำเภอ ส่วนป่าสงวนแห่งชาติได้เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ อ.ครบุรี ได้เนื้อที่กลับมาเกือบ 10,000 ไร่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เช่น จ.เลย ลงพื้นที่ตรวจสอบมารวม 6 ครั้ง และ จ.อุดรธานี ก็ได้เข้าตรวจสอบแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการนำกลับมาเป็นของส่วนรวมเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว อยู่ที่ จ.นครราชสีมา คือ ที่สาธารณะประโยขน์บ้านหนองตะไก้ อ.สูงเนิน ประมาณ 7,000 ไร่ และ อ.ด่านขุนทด ประมาณ 5,000-6,000 ไร่ ส่วน จุดอื่นๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มนายทุนทั้งหมด
พ.อ.สมหมาย กล่าวอีกว่าในส่วนพื้นที่ อ.ปากช่อง การตรวจสอบเริ่มต้นจาก เขาหนองเชื่อม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ,พื้นที่สวนป่าใน อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่เช่นกัน ต่อมาเป็น กรณีสนามแข่งรถของ โบนันซ่า ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ซึ่ง การเข้าตรวจสอบ นั้น จะมีหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ร้องขอเข้ามา และล่าสุด ได้รับการประสานมาว่าในสัปดาห์หน้าหน่วยงานต่างๆ จะลงพื้นที่ตรวจสอบใน อ.ปากช่อง อีก แต่ยังไม่ระบุพิกัดหรือสถานที่จะเข้าไป
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพื้นที่ อ.ปากช่อง โดยรวม นั้น เดิมทีเป็นพื้นที่เป็นป่าไม้ถาวรประกาศคลุมทั้งอำเภอ สมัยปี 2500 ยังเป็น ต.ปากช่อง จุดตรงนั้นเป็นพื้นที่มีภัยธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ยุงลายชุกชุม มีสัตว์ร้าย การเข้าไปทำกินค่อนข้างยาก เพราะเป็นป่าดงดิบ จะเรียกได้ว่า ยุงร้ายกว่าเสือได้เพราะโรคมาลาเรียชุกชุมมากในปีนั้น ต่อมาได้มีการจำแนกออกเป็นป่าสงวนแห่งชาติและบางแปลงยกให้นิคมสร้างตนเองลำตะคอง เอาไปจัดสรรให้กับชาวบ้านได้อยู่อาศัยทำกินประมาณกว่า 2 แสนไร่ แต่ยังเป็นรอยริ้วป่าอยู่
ต่อมาเมื่อป่าถูกเพิกถอนสภาพเนื่องจากเสื่อมโทรมจึงมีการยกพื้นที่ให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินการเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปปฏิรูปให้เกษตรกร ฉะนั้นข้อเท็จจริงคือ พื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ป่าจึงมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่ใน เขตเทศบาลปากช่อง ในปัจจุบันเท่านั้น แต่หากเลยแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ไปแล้วก็ล้วนเป็นเขตป่าไม้เดิม อาจจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติเขาเสียดอ้าฯ , ป่าเขาใหญ่ ,ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง หรือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น
ฉะนั้นผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ทำกินนอกเหนือจากเขตเทศบาลปากช่องแล้ว ก็มีบ้างเล็กน้อยไม่ใช่ไม่มีเลย แต่ปัจจุบันผู้ที่เข้าไปทำกินและประกอบกิจการต่างอ้างกันว่ามีโฉนดที่ดิน มีเอกสารสิทธิ์ทำกินเต็มไปหมด ซึ่งจะต้องไปดูที่มาของมันว่าได้มาอย่างไร หน่วยงานรับผิดชอบต้องไปทบทวนดูว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้มาถูกต้องหรือไม่ เพราะที่มาของโฉนดที่ดินมาได้หลายทาง เช่น ที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง กว่า 2 แสนไร่ ก็สามารถพัฒนาเป็นโฉนดได้เช่นกัน แต่พวกนี้จะถูกสลักหลัง มีโฉนด 5 ปี ถึงจะโอนเปลี่ยนมือได้ แต่วัตถุประสงค์ของการให้โฉนดบริเวณนิคมฯนั้นคือได้มา จาก พ.ร.บ.เพื่อการยังชีพ เอาไปครองชีพโดยปกติวิสัยของมนุษย์ คือเอาไปทำการเกษตร ไม่ได้เอาไปเปลี่ยนทำกิจการขนาดใหญ่โตหรือสนามกอล์ฟ เพราะวัตถุประสงค์ยังมีอยู่ และที่ดินดังกล่าวก็ได้มาฟรีตั้งแต่แรก
พ.อ.สมหมาย กล่าวอีกว่า กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่ ที่สาธารณะต่างๆ ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่เป็นลักษณะเดียวกันกรณีโบนันซ่า” ฉะนั้นตนเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะนำมาเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว คือรื้อระบบผิดถูก ชอบหรือไม่ชอบทั้งหมดในพื้นที่ อ.ปากช่อง เพราะหากพบว่าได้เอกสารสิทธิ์มาไม่ชอบแล้วควรจะได้สถานะอะไรถึงจะอยู่ในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องมาหวาดระแวงว่า จะถูกหรือไม่ถูก ในทัศนะของตนคิดว่ามันน่าจะเป็นวาระแห่งชาติได้แล้วสำหรับเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้นำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะมันกระทบกับผู้อยู่อาศัยที่เข้ามาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนเยอะมาก
สำหรับการตรวจสอบนั้นหากตนเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะยินยอมให้ตรวจสอบหมดเพราะจะได้รู้ที่มาที่ไปให้ชัดเจน และวันหนึ่งในอนาคตอาจจะถูกตรวจสอบว่าได้มาโดยไม่ชอบก็จะทำให้เราเสียหายได้ แต่ตอนนี้มันเป็นโอกาสดีแล้วที่มีการตรวจสอบ เพียงแต่หน่วยงานเจ้าภาพมีหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน , ที่ ส.ป.ก. , ป่าสงวนแห่งชาติ และ สวนป่าต่างๆ ที่ถูกถือครองอยู่ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ควรมีเวทีหารือร่วมกันและหาทางออกของปัญหาแบบเบ็ดเสร็จไม่ใช่ให้หมักหมมต่อไป ในส่วนของฝ่ายทหารพร้อมที่จะพูดคุย เพราะมีข้อเท็จจริงและข้อมูลให้อยู่แล้ว