กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์น้อมนำสูตรปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเผยแพร่ให้แก่ชาวบ้านและจัดตั้งเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้เองเพื่อลดต้นทุนการทำการเกษตร
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่บ้านนาบอน หมู่ 11 ต.นาบอน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดโครงการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 600 คน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการและหมอดินอาสาจากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดยนายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นายสำนัก กายาผาด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ และส่วนราชการ ผู้นำชุมชน นำชาวบ้านร่วมงานจำนวนมาก
ภายในงานมีกิจกรรมการสาธิตการอัดปุ๋ยหมักอินทรีย์ด้วยตนเอง ที่จัดเป็นการแข่งขันทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ลีลา การมอบเกียรติบัตรแก่เกษตรกรตัวอย่างดีเด่น และการสาธิตการผสมปุ๋ยอินทรีย์สูตรพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินโดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดได้น้อมนำสูตรปุ๋ยหมักพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเผยแพร่และให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โดยจะเน้นให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรได้ทำปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเองไว้ใช้เพื่อลดต้นทุนการทำการเกษตรในครัวเรือน โดยวัตถุดิบที่นำมาผลิตปุ๋ยหมักส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในชุมชนอยู่แล้ว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว แกลบ รำ ปลายข้าว มูลสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ที่จะเน้นให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีส่วนราชการเป็นพี่เลี้ยงและดำเนินการร่วมกับเกษตรกร เพื่อให้ทุกจังหวัดเริ่มจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เป็นของตนเอง โดยทางสถานีพัฒนาที่ดินเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ทุกๆ จังหวัด
ด้านนายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่บ้านหน้าบอน หมู่ที่ 1 และ 11 ต.นาบน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จะเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์แห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีเครือข่ายและสมาชิกเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่จะมีความเข้มแข็งด้วยการส่งเสริมอย่างจริงจังจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเครือข่ายเป็นเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกจำหน่ายในตลาดอยู่แล้ว
โดยการผลิตปุ๋ยของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบเหลือใช้จากชุมชนนานาชนิดจากไร่นาในครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมมาฝากไว้ที่ธนาคาร จากนั้นธนาคารจะทำการผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ออกมา ชาวบ้านหรือเกษตรกรที่นำวัตถุดิบมาฝากไว้ที่ธนาคารฯ ก็จะได้ปุ๋ยเป็นสิ่งตอบแทน
ส่วนผู้ที่ไม่มีวัตถุดิบมาให้ธนาคารฯ ก็สามารถนำเงินมาแลกซื้อในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดได้ ซึ่งกลวิธีนี้นอกเหนือจะช่วยลดมลภาวะแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์สนองยุทธศาสตร์ของ จ.กาฬสินธุ์ ที่มุ่งจะเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยในอนาคต