xs
xsm
sm
md
lg

“ชลบุรี” พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงจากปัจจัยเสี่ยงการขยายตัวของเมือง-อุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศัลยแพทย์เต้านม ระบุพบกลุ่มสตรีที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมในชลบุรีสูงสุดในประเทศไทย ทั้งจากการมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยในเมืองพัทยาเพิ่มขึ้น และปัจจัยเสี่ยงมีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง จากการขยายตัวของสังคมเมือง ภาคอุตสาหกรรม เตือนสตรีควรตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

นายแพทย์ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล ศัลยแพทย์เต้านม ประจำศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จ.ชลบุรี เผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2553 ว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยหญิงสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก โดยพบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3.5-4 หมื่นคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึงปีละประมาณ 2-2.5 พันคน หรือประมาณ 7 คนต่อวัน ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลกมีประมาณ 2 ล้านคน โดยมีกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทยประมาณ 2-3 แสนคน

แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือ สถิติของกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมล่าสุด พบว่า จังหวัดที่มีอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมสูงสุดอยู่ที่ จ.ชลบุรี รองลงมา คือ กรุงเทพฯ และระยอง โดยพบว่า จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของสังคมเมือง รวมทั้งเป็นเขตที่มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และมีการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพราะมีโอกาสที่คนในพื้นที่จะได้สัมผัสสารก่อมะเร็งมากกว่าจังหวัดอื่น

“ยิ่งในกรณีที่มีคนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองพัทยาจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้ชลบุรีมีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมสูงมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะผู้หญิงในประเทศแถบยุโรป และอเมริกามีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนเอเชียถึง 10 เท่า เหตุนี้จึงทำให้เมืองพัทยา เป็นเขตพิเศษที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ”

นายแพทย์ฐาปนัสม์ ยังเผยถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมว่า นอกจากจะมาจากเรื่องของฮอร์โมน และปัญหาทางพันธุกรรมที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า มีความสัมพันธ์กันแล้ว การกินยาคุมกำเนิด หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อความสวยงาม และการรับประทานอาหารเสริมบางประเภท รวมทั้งสตรีที่ไม่เคยให้นมบุตร การมีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า ก็มีโอกาสที่จะทำให้ป่วยเป็นมะเร็งเต้นนมได้

โดยโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ได้เปิดให้บริการศูนย์มะเร็งเต้านม ที่มีขีดความสามารถในการรักษาครบวงจรเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งมีขีดความสามารถในการรักษา และการตรวจวินิจฉัยเท่าเทียมโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ เพราะมีทั้งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน การผ่าตัดแบบเต้านมทั้งเต้า ตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดแบบเจ็บน้อย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผ่าตัด และการตรวจวินิจฉัย ที่สำคัญยังมีเครื่องแมมโมแกรม 3 มิติ ที่ทันสมัยที่สุดในโลก ที่จะสามารถหาความผิดปกติได้อย่างชัดเจน

“ศูนย์แห่งนี้มีจุดขายด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง และพยาบาล รวมทั้งผู้ช่วยพยาบาลที่สามารถให้คำอธิบายถึงขั้นตอนการรักษา และการดูแลหลังผ่าตัดได้เป็นอย่างดี โดยมีการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด และเมื่อผ่าตัดเสร็จจะมีการให้ยา ซึ่งก็จะมีหมออายุรแพทย์โรคมะเร็งวิทยา มะเร็งเต้านม ที่จะดูแลในเรื่องของการให้ยาเคมีบำบัด และการทำคีโมประจำอยู่ที่นี่ 1 คนทุกวัน นอกจากนั้น ยังจะมีหมอที่จะมาช่วยออกตรวจประมาณ 5-6 คน ส่วนคุณหมอรังสีวินิจฉัย มีทีมเกือบ 10 คน จึงถือได้ว่าศูนย์มะเร็งของเรามีความพร้อมในการให้การดูแล และรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่”

นายแพทย์ฐาปนัสม์ ยังบอกถึงจุดสังเกตแรกที่ควรตั้งข้อสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม คือ การพบก้อนที่เต้านม ซึ่งหากเป็นก้อนขนาดใหญ่จะดึงรั้งผิวหนังที่มีเส้นประสาทจนทำให้รู้สึกเจ็บ กระทั่งปะทุขึ้นมาบนชั้นผิวหนัง และเกิดเป็นแผล ซึ่งจะต้องรีบมาพบแพทย์ในทันที นอกจากนั้น การมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หรือการมีขนาดของเต้านมที่ต่างกันมาก หรือหัวนมที่เคยชูชันแต่กลับหดดึงรั้ง หรือมีผื่นแผลเรื้อรังที่เต้านมจนไม่สามารถรักษากับหมอผิวหนังให้หายได้ภายใน 2 สัปดาห์ ก็จะต้องรีบมาพบแพทย์เช่นกัน

ขณะที่การตรวจหาสิ่งผิดปกติด้วยตนเอง คือ การใช้นิ้ว 3 นิ้วหาสิ่งผิดปกติของเต้านมด้วยการคลำจากด้านนอกเข้ามาถึงด้านในลักษณะตามเข็มนาฬิกา ซึ่งหากคลำเจอก้อนคล้ายเม็ดถั่วแดง หรือลูกแก้วให้รีบมาพบแพทย์ ทั้งนี้ การคลำด้วยตนเองจะต้องคลำหลังมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ และให้คลำตรวจหาเป็นประจำเดือนละครั้ง ที่สำคัญกลุ่มสตรีควรตรวจคลำด้วยมือตนเองให้เป็นตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และควรมาตรวจกับแพทย์ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหากไม่พบสิ่งผิดปกติก็ควรกลับมาตรวจอย่างต่อเนื่องเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป



กำลังโหลดความคิดเห็น