xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไปอีกขั้นกับการมองไปข้างหน้าสำหรับการปฏิรูประบบอีไอเอ/อีเอชไอเอของประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ก้าวไปอีกขั้นกับการมองไปข้างหน้าสำหรับ “การปฏิรูประบบอีไอเอ และอีเอชไอเอของประเทศไทย” เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งต่อการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของประชาชนในพื้นที่ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การแปลงแนวคิดการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

วันนี้ (16 เม.ย.) ทีมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับทีมนักวิชาการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยมีเลขาธิการ สผ.เป็นประธาน ที่ห้องประชุม 201 ของ สผ. ในประเด็นการปฎิรูประบบอีไอเอ/อีเอชไอเอของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งกับการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแปลงแนวคิดการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า วันนี้ทีมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รศ.ดร.เรณู เวชรัชพิมล ดร.สมนึก จงมีวศิน นายศุภกิจ นันทะวรการ นางณัติกาล สูติพันธ์วิหาร น.ส.สุภาพร มาลัยลอย และนายสนธิ คชวัฒน์ ได้ประชุม และร่วมหารือกับท่าน ดร.เกษมสันต์ จิณณวโส เลขาธิการ สผ. นางปิยนันท์ โศภณคณาภรณ์ รองเลขาธิการ สผ.และทีมงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่มีความเห็นร่วมกันในการปรับปรุงระบบระบบอีไอเอ/อีเอชไอเอของประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

1.เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ที่เรียกว่า Advisory committee ซึ่งประกอบด้วย หน่วยราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชนในพื้นที่ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ หรือจังหวัดที่มีโครงการประเภทที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ หรือโครงการภาคของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และรัฐร่วมกับเอกชน เป็นต้น เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการเบื้องต้น เช่น การเลือกที่ตั้งโครงการ ลักษณะโครงการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หากมีความเป็นไปได้จะนำไปสู่การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ของที่ปรึกษาต่อไป

รวมทั้งคณะกรรมการฯจะทำหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบการดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบของโครงการของเจ้าของโครงการ/ที่ปรึกษา ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการในพื้นที่นั้นให้เป็นไปตามแนวทาง และหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ก่อนส่งให้ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาต่อไป ซึ่งกลไกดังกล่าวจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อโครงการที่จะมาตั้งในพื้นที่ตั้งแต่เบื้องต้น ลดความขัดแย้งในเรื่องของความไม่ไว้วางใจในการทำรายงานของที่ปรึกษา เป็นการส่งเสริมสิทธิชุมชนต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ในแง่กฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ สผ.จะไปตรวจสอบเพื่อปรับปรุงอีกครั้ง

2.เห็นควรปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ พ.ศ.2552 เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีหลายประเด็นที่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ดังเช่น การจัดรับฟังข้อห่วงกังวลต่อโครงการของประชาชนบางโครงการมีการขนคนที่สนับสนุน หรือเห็นแย้งต่อโครงการเข้าไปในห้องประชุม การรับฟังความเห็นบางแห่งเป็นเพียงพิธีกรรมที่พยายามทำให้ครบขั้นตอน ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง ร่างรายงานฯ ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วไม่เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นการดำเนินการโดยเจ้าของโครงการ/ที่ปรึกษา ไม่มีการกำกับดูแลจากส่วนราชการ ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ประเด็นดังกล่าว สผ.จะรับไปพิจารณา และนำมาหารือร่วมกันกับทีมงานนักวิชาการอีกครั้งเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่วมกันต่อไป

3.เห็นควรกำหนดบทลงโทษ กรณีก่อสร้างโครงการก่อนทำรายงาน กำหนดอายุของรายงานให้ชัดเจน มีบทลงโทษโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานฯ รวมทั้งมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อที่ปรึกษาที่ทำรายงานฯ เป็นเท็จ

4.เห็นควรกำหนดให้มีสัดส่วนของหน่วยราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชนที่เหมาะสมในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ (คชก.) โดย คชก.ต้องมาจากการสมัคร และคัดเลือกที่เป็นธรรม โปร่งใส เป็นที่ไว้ใจของทุกภาคสังคม ซึ่งในเรื่องมีขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้

5.เห็นควรปรับปรุงให้มีการแยกหน่วยงานการพิจารณารายงาน และติดตามตรวจสอบผลกระทบออกมาจาก สผ.เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และความเป็นอิสระทางวิชาการ ตลอดจนมีอำนาจในการติดตามตรวจสอบ และลงโทษกรณีการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

ซึ่งในประเด็นดังกล่าวข้างต้น บางประเด็นสามารถดำเนินการได้ โดยการปรับแก้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่บางประเด็นในเรื่องบทลงโทษอาจต้องปรับแก้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
กำลังโหลดความคิดเห็น