xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งคุกคามหนัก ไร่อ้อย-สวนยางชาวสตึกเสียหายยับ วอนรัฐช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกษตรกรบ้านโศกคลอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ วอนรัฐให้การช่วยเหลือ หลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก
บุรีรัมย์ - ภัยแล้งคุกคามหนัก ล่าสุดไร่อ้อยและสวนยางของเกษตรกรอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องปรับเปลี่ยนจากนาข้าวหันมาปลูกยางและอ้อยหวังหนีภัยแล้ง แต่กลับกระทบซ้ำขาดน้ำแห้งตายเสียหายกว่า 200 ไร่ และหนอนระบาดซ้ำอีก เกษตรกรขาดทุนรายละหลายหมื่น วอนภาครัฐช่วยเหลือ

วันนี้ (2 เม.ย. 58) สถานการณ์ภัยแล้งยังคุกคามพื้นที่ไร่อ้อย และสวนยางพาราของเกษตรกรบ้านโศกคลอง หมู่ 18 ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนจากทำนาข้าวหันมาปลูกอ้อยและยางพารา หวังหนีภัยแล้งและปัญหาราคาตกต่ำ แต่ภัยแล้งที่รุนแรงปีนี้ทำให้ไร่อ้อยที่ปลูกใหม่และสวนยางของเกษตรกรที่ปลูกได้ 3-4 ปี ต้องประสบปัญหายืนต้นแห้งตายเสียหายแล้วกว่า 200 ไร่ ถึงแม้เกษตรกรบางรายจะยอมลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยและยางหวังให้ฟื้นตัวแต่ไม่เป็นผล

สภาพความแห้งแล้งดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดปัญหาหนอนระบาดกัดกินต้นอ้อยที่ปลูกใหม่ สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมเกษตรกร แม้จะซื้อยาฆ่าแมลงฉีดพ่นแต่ไม่สามารถกำจัดหนอนได้ ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียเงินลงทุนเพาะปลูกอ้อยและสวนยางรายละ 20,000-50,000 บาท

จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือ โดยจัดหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมถึงให้จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย

นางนิตยา จิตต์แม่น อายุ 54 ปี ชาวบ้านบ้านโศกคลอง กล่าวว่า เดิมมีอาชีพทำนา แต่หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและราคาข้าวตกต่ำ จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเกือบ 10 ไร่หันมาปลูกอ้อยและยางพาราแทน โดยยอมลงทุนทั้งซื้อพันธุ์ ปุ๋ย ขุดเจาะบาดาล มากกว่า 50,000 บาท แต่กลับต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งต้นยางและอ้อยแห้งตายเสียหาย แม้จะลงทุนเจาะน้ำบาดาลสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงและนำต้นพันธุ์มาปลูกแทนต้นที่แห้งตายแต่ก็ยังแห้งตายอีก จากผลกระทบดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้รัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือเร่งด่วนด้วย

ด้านนายเขียว ชัยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านโศกคลอง กล่าวว่า จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ปลูกอ้อยและยางพาราได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแห้งตายเสียหายกว่า 200 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมู่บ้านกว่า 400 ไร่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเสนอไปยัง อบต. อำเภอ และจังหวัดรับทราบ เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ หรือเงินชดเชยเยียวยาผลผลิตที่แห้งตายเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น