ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยาประกาศความพร้อมอาคารจอดรถ-จอดเรือ บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ มั่นใจกลางปี 2558 เปิดใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก่อสร้างนานกว่า 2 ปีกว่า อยู่ในระหว่างให้ภาคเอกชนผู้ชำนาญการเข้ามาทดสอบ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยถึงความพร้อมหลังทดลองระบบโครงการที่จอดรถอัตโนมัติเมืองพัทยา บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ จ.ชลบุรี ซึ่งก่อสร้างแล้วมานานกว่า 2 ปีกว่า และได้เปิดให้บริการประชาชนใช้บริการฟรีในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้อาคารจอดรถได้ผ่านกระบวนการในการให้ภาคเอกชนผู้ชำนาญการเข้ามาทดสอบ ดูแลระบบ และบำรุงรักษาแล้ว โดยคาดหมายว่า อาคารจอดรถแห่งนี้จะเปิดให้บริการประชาชน และนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในช่วงประมาณกลาง เดือนพฤษภาคม 2558 โดยมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บการใช้บริการที่จอดรถชั่วโมงละ 30 บาท
ทั้งนี้ หลังจากทดลองเปิดให้บริการแก่ประชาชนมาประมาณ 2 สัปดาห์ พบว่า ระบบการใช้งานถือว่ามีความพร้อมเป็นอย่างดี แต่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้างในเรื่องของวิธีการ และการเข้าไปใช้อาคารจอดรถ แต่ก็ถือเป็นโครงการหลักที่เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยว และลดความคับคั่งการจราจรบริเวณแหลมบาลีฮายได้เป็นอย่างดี
ส่วนโครงการอาคารจอดเรือนั้น ขณะนี้ทางเมืองพัทยา ได้มอบหมายให้ผู้รับเหมาซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้าง เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมในส่วนของทุ่นลอย และท่าจอดเรือซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นลมในช่วงเวลาที่ผ่านมาให้มีความเรียบร้อย และคงสภาพที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการประกาศหาภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการเข้าบำรุงรักษาและบริหารอาคารจอดเรืออย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าประมาณกลางปี 2558 นี้ ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างแน่นอน
นายอิทธิพล เปิดเผยต่อไปอีกว่า สำหรับปัญหาที่ทำให้อาคารจอดเรือไม่สามารถให้บริการหลังดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็มีเหตุเนื่องจากกำแพงกันคลื่นได้รับความเสียหายในช่วงฤดูมรสุมที่ผ่านมา
ตามสัญญาการว่าจ้างนั้น การก่อสร้างยังอยู่ในระหว่างรับประกันของผู้ว่าจ้าง เมืองพัทยาจึงให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการซ่อมแซม พร้อมทั้งให้ดำเนินการเสริมความแข็งแรงในตัวของทุ่นลอยซึ่งเป็นช่องจอดเรือ ส่วนระบบปั๊มลมต่างๆ สำหรับไฮดรอริกยกตัวเรือนั้นก็ได้มีการบำรุงรักษาอยู่ตลอด แต่ในสภาพปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีความเสียหายจากคลื่นลมอยู่บ้าง ซึ่งก็ได้มีการดำเนินซ่อมแซมไปแล้วบ้างส่วน
ทั้งนี้ ภาพโดยรวมของโครงการอาคารจอดเรือนั้น คงจะสามารถให้บริการได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างแน่นนอน โดยการใช้งานนั้นเป้าหมายส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนำเรือประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งมาจากผู้ประกอบการหลัก 2 ราย คือ สหกรณ์เรือท่องเที่ยว และชมรมเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่อยู่ที่ลานบริเวณแหลมบาลีฮาย นำเรือเข้าไปจอดในท่าที่จัดทำไว้ โดยจะสามารถรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก และขนาดกลางได้ประมานกว่า 320 ลำ
ส่วนเรือขนาดใหญ่ก็อาจจะมีการลดจำนวนช่องจอด เนื่องจากมีคลื่นลมแรง อีกทั้งระบบที่มีการออกแบบไว้แต่เดิมนั้นก็ไม่ได้มีการออกแบบเขื่อนกันคลื่นแบบถมทะเลไว้ ทำให้คลื่นใต้น้ำสามารถไหลผ่านกำแพงกันคลื่นได้ จึงอาจเกิดความเสียหายต่อเรือขนาดใหญ่ จึงเน้นไปที่เรือขนาดเล็ และกลางเป็นหลัก ซึ่งจะใช้ไฮดรอริกยกตัวเรือที่นำมาจอดให้พ้นผิวคลื่น และไม่เกิดความเสียหายใดๆ
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่จอดรถ จอดเรือนั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557 ในงบประมาณกว่า 735 ล้านบาทนั้น มีการทดลองระบบ มีการประกาศหาผู้รับเหมามาตลอดระยะเวลาปีเศษ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการเปิดให้บริการแก่ประชาชน แต่ก็ยังจัดหาผู้รับสัมปทานไม่ได้ โดยจะดำเนินการต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้มารับสัมปทานแน่นอน
ทั้งนี้ หากเปิดใช้บริการอาคารจอดเรืออย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้ลานจอดเรือเดิมบริเวณแหลมบาลีฮาย มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมืองพัทยา ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ทั้งในเรื่องของพื้นที่พักผ่อน หรือเป็นสถานที่ในการจัดงานต่างๆ
นายสนิท บุญมาฉาย ประธานชมรมเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา เปิดเผยในฐานะผู้ประกอบการเรือ ว่า หลังจากจะมีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของอาคารที่จอดรถ-จอดเรือ แหลมบาลีฮาย โครงการดังกล่าวเป็นของเมืองพัทยา ที่ผ่านมา ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับโครงการที่จอดรถ-จอดเรือ ถือเป็นระบบใหม่ ส่วนตัวยังไม่ได้ลงไปตรวจสอบ 100% เพราะอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งาน และยังไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบ จึงไม่ทราบว่าจะสามารถใช้ได้หรือไม่ จากข้อมูลทราบเพียงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ โดยเมืองพัทยาได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาการควบคุมระบบ ทั้งนี้ หากมองส่วนรวมน่าจะเกิดประโยชน์ เพราะเกิดการจัดระเบียบขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการเรือให้อยู่เป็นสัดส่วน
นายสนิท เผยต่อว่า ในเมืองพัทยามีกลุ่มเรืออยู่ 3 กลุ่มใหญ่ รวมเรือทั้งหมด 800 ลำ แต่สถานที่จอดเรือที่เมืองพัทยาได้ก่อสร้างนั้นสามารถจอดเรือได้ประมาณ 300 ลำ ซึ่งต้องมีการจัดระเบียบ การกำจัดเรื่องการกีดขวางสถานที่บนฝั่ง และลงไปจัดระเบียบในทะเล ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารจะพิจารณาการจัดการดังกล่าว