xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูม “เสี่ยบั๊ก - บรรเจิด ฉัตรไพฑูรย์” ผู้ต้องหาสั่งฆ่า “พระหมอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดปูมประวัติ “นายบรรเจิด ฉัตรไพฑูรย์”

หลังตำรวจใช้ความพยายามมาเกือบ 1 เดือน ในการคลี่คลายคดีสังหารโหด “พระหมอ” พระนักปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ...วันนี้ คดีดังกล่าวใกล้ยุติลงแล้ว ตำรวจสามารถจับกุมได้ทั้งมือปืน ผู้ชี้เป้า คนขับรถ ตลอดจนรถยนต์ที่ใช้ก่อเหตุ...และล่าสุด คือ การจับกุมผู้บงการ คือ “เสี่ยบั๊ก” หรือ “นายบรรเจิด ฉัตรไพฑูรย์”

นายบรรเจิด ฉัตรไพฑูรย์ หรือ “เสี่ยบั๊ก” ไม่ใช่ชาวอีสานโดยกำเนิด ย้ายครอบครัวมาจากจังหวัดปราจีนบุรี เข้ามาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อราวปี พ.ศ.2515 พร้อมกับน้องชาย คือ นายบรรจง ฉัตรไพฑูรย์ เริ่มต้นเปิดร้าน “ขายกวยจั๊บ” บริเวณ ถ.อุดรดุษฎี กิจการขายกวยจั๊บของสองพี่น้องขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หลายปีต่อมา ชื่อเสียงของเสี่ยบั๊กเป็นที่รู้จักของชาวเมืองอุดรธานีอย่างกว้างขวาง

และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนขยัน ใจนักเลง ชอบเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้เสี่ยบั๊ก ได้มีโอกาสรู้จักกับ “นายพิศาล มูลศาสตรสาทร” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีขณะนั้น

เสี่ยบั๊ก เป็นอีกคนหนึ่งที่ฉลาดใช้ในการ Connection ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการค้า หลังจากนายพิศาล ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจวบเหมาะกับขณะนั้น ช่วงปี 2518 สปป.ลาว มีปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศอย่างรุนแรง ประชาชนบางส่วนอพยพออกมาอาศัยประเทศไทย จนทำให้องค์การสหประชาชาติตั้งศูนย์อพยพชาวเขาเผ่าแม้วขึ้นที่อำเภอเชียงคาน จ.เลย

เสี่ยบั๊ก มองเห็นช่องทางการทำธุรกิจ จึงวิ่งเต้นเข้าหาปลัดฯ พิศาล จนในที่สุดได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบอาหารให้แก่ศูนย์อพยพดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่นั้นมา

ในห้วงนี้เองที่ทำให้เสี่ยบั๊ก ได้มีโอกาสรู้จักกับนายวิเวทย์ วิไชโย อดีตนายก ทต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย ที่ถูกจับกุมในข้อกล่าวหา “มีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกให้ไม่ได้ (อาวุธสงคราม) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เพราะขณะนั้น นายวิเวทย์ รับราชการเป็นนายเวรหน้าห้องผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ซึ่งเสี่ยบั๊ก ต้องแวะเวียนเยี่ยมเยื่อนติดต่อประสานงานกับผู้ว่าฯ บ่อยครั้ง

การผูกขาดส่งวัตถุดิบอาหารให้แก่ศูนย์อพยพฯ นับเป็นช่องทางสร้างรายได้ และผลกำไรให้แก่เสี่ยบั๊กอย่างเป็นกอบเป็นกำ เขาได้รับสิทธิผูกขาดจัดส่งวัตถุดิบอาหารให้แก่ศูนย์อพยพดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงในปี พ.ศ.2527 ศูนย์อพยพชาวเขาเผ่าแม้วดังกล่าว ก็ปิดตัวลง ทำให้เสี่ยบั๊ก มีเงินทุนก้อนใหญ่มาทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น

กระทั่งต่อมา มีแนวคิดอยากทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เพราะมองว่าคนมีฐานะดีในเมืองอุดรฯหรือพื้นที่อีสานแถบนี้ หรือแม้แต่เศรษฐีชาวลาวเอง มักจะเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนดังๆ ในกรุงเทพ เขาได้เริ่มขายไอเดีย ชักชวนเพื่อนนักธุรกิจในเมืองอุดรฯ หลายรายเข้าหุ้นลงทุนสร้างโรงพยาบาล จนในที่สุด ความฝันของเขาก็สำเร็จ โดยโรงพยาบาลเอกอุดรเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2540

โรงพยาบาลเอกอุดร ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 12 ไร่ ถ.โพศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี อยู่ใจกลางเมือง เป็นอาคารสูง 12 ชั้น 2 อาคาร โดยแบ่งเป็นอาคาร A เป็นอาคารอำนวยการ การรักษาพยาบาล และชั้นดาดฟ้า เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางอากาศ อาคาร B เป็นอาคารจอดรถในร่มสูง 6 ชั้น สามารถจอดรถได้กว่า 800 คัน รวมทั้งหอพักแพทย์ พยาบาล และอพาร์ตเมนต์เจ้าหน้าที่พนักงาน

ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 62,000 ตารางเมตร สามารถรับคนไข้นอกได้ถึงวันละ 1,200 คน และรับคนไข้ในได้ถึง 350 เตียง

อย่างไรก็ตาม กิจการโรงพยาบาลเอกอุดรในช่วงแรกๆ ไม่ประสบผลสำเร็จนัก กระทั่งหุ้นส่วนหลักๆ หลายคนขอถอนหุ้นออกไป เสี่ยบั๊ก จึงได้ดึง “อรุณี จิวาศักดิ์อภิมาศ” นักธุรกิจใหญ่ ฐานะเข้าขั้นเศรษฐีอันดับต้นๆ ในเมืองหนองคาย เข้ามาถือหุ้นส่วน โดยเขานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และช่วยกันบริหารงานโรงพยาบาลเอกอุดร จนกิจการเริ่มเติบโตผลรายได้เริ่มงอกเงย

ต่อมา เสี่ยบั๊ก ได้แต่งงานกับ “อรุณี” อย่างเปิดเผย ถือเป็นภรรยาคนที่ 2 ของเสี่ยบั๊ก

ข่าวการแต่งงานกับภรรยาคนที่ 2 ครั้งนี้ ทำเอาสังคมชาวอุดรฮือฮาซุบซิบอย่างกว้างขวาง เพราะก่อนหน้านี้ เสี่ยบั๊ก เคยแต่งงานอย่างออกหน้ามาแล้วกับภรรยาคนแรก คือ ทันตแพทย์หญิงวารุณี ฉัตรไพฑูรย์ ปัจจุบันมีบุตรสาวฝาแฝดด้วยกัน กำลังเรียนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2554 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้มอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด ให้แก่ นายบรรเจิด หรือเสี่ยบั๊ก ด้วยเหตุผลที่บรรยายไว้สวยหรูว่า เป็นนักบริหารจัดการองค์กรที่มีแนวคิดในการประกอบธุรกิจที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม ก่อตั้งโรงพยาบาลเอกอุดรขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2540 โดยมุ่งมั่นให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นหนึ่งในภูมิภาคในทุกๆ ด้าน บริหาร และพัฒนาโรงพยาบาลโดยใช้ความรู้ ความสามารถ และแนวคิดทางการตลาดที่โดดเด่น

คือ “หลักการตลาดเพื่อสังคม” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลให้เป็นที่รู้จัก ควบคู่กับการสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และโครงการการกุศล หลังรับมอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนั้น ทำให้ “เสี่ยบั๊ก” กลายเป็น “ดร.บรรเจิด” ไปโดยปริยาย

สำหรับ “หมอแก้ว” จักษุแพทย์สาวที่เป็นชนวนเหตุจนนำไปสู่การสั่งเก็บ “พระหมอ” นั้น เป็นภรรยาอีกคนหนึ่งของเสี่ยบั๊ก

ว่ากันว่า เสี่ยบั๊ก กับหมอแก้วนั้นมีอุปนิสัยชอบเข้าวัดทำบุญเหมือนกัน โดยเฉพาะเสี่ยบั๊ก นั้นมักจะทำบุญด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือโครงการต่างๆ ของวัดป่าแต่ละวัดใน จ.อุดรธานี แต่ละครั้งจำนวนไม่น้อย และทำมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่วัดป่าบ้านตาด ขณะที่หลวงตา “มหาบัว” เป็นเจ้าอาวาส เสี่ยบั๊ก ถือเป็นโยมอุปฐากรายใหญ่ที่ใกล้ชิดหลวงตาคนหนึ่ง

...ในทางกลับกัน ในกลุ่มสังคมคนที่รู้จักกับ “เสี่ยบั๊ก” ก็รับรู้เช่นกันว่า เสี่ยบั๊กคนนี้เป็นคนโมโหร้าย ใจร้อน อยากได้อะไรมักจะต้องหามาให้ได้ และคนอุดรจำนวนไม่น้อยก็ยังกังขาเช่นกันว่า คนที่ชอบทำบุญทำทานอย่างเขา เหตุใดถึงถูกโยง ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการ สั่งฆ่าคนที่อยู่ในสมณเพศ โดยเฉพาะพระภิกษุสายวัดป่าที่เขาเองนับถือศรัทธามาตลอด


เสี่ยบั๊กกับนายวิเวทย์ วิไชโย อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนาอาน(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น