อุบลราชธานี - “สาวิทย์ แก้วหวาน” ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรถไฟฯ ปลุกพนักงานการรถไฟอุบลฯ ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางราง เหตุเอารถการรถไฟฯ ให้เอกชนบริหาร ทั้งที่ ร.ฟ.ท.ขาดทุนจากรัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม ทั้งทำให้คนรถไฟกว่าหมื่นชีวิตตกงานหลังปรับปรุง
วันนี้ (23 มี.ค. 58) ที่ทำการสหภาพแรงงานวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยสาขา จ.อุบลราชธานี นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงและเรียกร้องให้คนงานร่วมกันคัดค้าน พ.ร.บ.จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคนงานรถไฟชุดแรกที่มีหน้าที่ควบคุมการเดินรถไฟตามสถานี การติดต่อสื่อสารระหว่างเดินรถ และเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลเส้นทางกว่า 5,400 คน
ส่วนระยะที่สองจะกระทบต่อคนงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ช่างกล ช่างเครื่อง และคนขับรถไฟอีกกว่า 6,000 คน รวมเป็นคนงานรถไฟได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางรวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 คน เพราะรัฐบาลมีนโยบายจะตั้งกรมการขนส่งทางรางให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายภายในเดือนมิถุนายนนี้
โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุถึงการโอนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดของการรถไฟแห่งประเทศไปให้เอกชนบริหาร แต่ไม่กล่าวถึงอนาคตของคนงานรถไฟทั้งหมดจะอยู่ต่อไปอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทางสหภาพแรงงานวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยได้เข้าพบและแจ้งความกังวลให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ทราบแล้ว แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องอนาคตของคนงานรถไฟทั้งหมด สหภาพฯ ในฐานะตัวแทนของคนงานจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีแนวทางบริหารกับคนงานกว่าหมื่นคนให้ชัดเจนกว่านี้
นายสำเริง นากระโทก ประธานสหภาพฯ สาขาจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า คนงานรถไฟยอมรับการเปลี่ยนแปลงการรถไฟฯ ให้ดีขึ้นและต้องให้คนงานรถไฟมีส่วนร่วมแก้ไข เพราะการขาดทุนของการรถไฟฯ ที่ผ่านมาล้วนเกิดจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทั้งจัดขบวนรถไฟฟรี ซึ่งรัฐบาลยังค้างจ่ายเงินกับการรถไฟฯ ไว้กว่า 8 พันล้านบาท และยังคงค้างเงินด้านนโยบาย เพราะตั้งแต่ปี 2528 รัฐบาลไม่ยอมให้รถไฟมีการขึ้นราคาค่าโดยสาร ซึ่งตามความเป็นจริงต้องเรียกเก็บค่าโดยสาร 1.70 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร แต่ยังให้จัดเก็บอยู่ในราคาเดิม คือ กิโลเมตรละ 24 สตางค์ต่อคนต่อกิโลเมตรมาถึงปัจจุบัน
แต่กลับอ้างต้องขายการรถไฟฯ ให้เอกชนเพื่อใช้หนี้สินที่การรถไฟฯ มีอยู่กว่าแสนล้านบาท จึงไม่เป็นธรรมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งไม่มีความชัดเจนเรื่องอนาคตของคนงานรถไฟหลังมีการตั้งเป็นกรมการขนส่งทางราง ซึ่งยึดเอาสมบัติของการรถไฟฯ ไปให้เอกชนบริหาร แต่ไม่มีการเขียนไว้ในกฎหมายจะให้คนงานรถไฟไปทำอะไร จึงต้องการขอความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับอนาคตของคนงานรถไฟทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นคนด้วย หากไม่มีความชัดเจนคนงานรถไฟอาจต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันขอความชัดเจนจากรัฐบาลอย่างแน่นอน