xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละซุ้มเหล้า-เบียร์ตาลเจ็ดต้นรุกน้ำปาย พบมีอีกอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการนำเสนอข่าวการเปิดซุ้มขายเหล้า-เบียร์ กลางลำน้ำปาย บริเวณ “ตาลเจ็ดต้น” หมู่ 3 ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน แหล่งท่องเที่ยวเล่นน้ำคลายร้อน และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา ที่เป็นสมบัติ “หน้าหมู่” ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในทางบวก และ ลบ (อ่าน “เมืองปาย” ฉาวอีก! ขายเหล้า-เบียร์กลางน้ำโจ่งครึ่ม คนเมาถ่มถุย “ตาลเจ็ดต้น” จนสิ้นเสน่ห์ )

บางส่วนมองว่า เพราะแม้กระทั่งชายหาดตามริมทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก็ยังห้ามแม้แต่จะปักร่มวางเก้าอี้กัน แต่ก็มีเสียงบางส่วนที่บอกว่าเป็นเรื่องปกติของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแม่น้ำปาย ที่เปิดซุ้มกินดื่มอย่างนี้เป็นเวลามานานหลายปีแล้วในหลายๆ สถานที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่แม่น้ำปายไหลผ่าน

ขณะที่ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ยืนยันว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้เป็นของชุมชนอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ อบต.เวียงเหนือ ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำปายได้รวมกลุ่มกันจัดทำซุ้มไม้ไผ่ และใบตองขนาดเล็ก บริการที่พักกลางแม่น้ำปายบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวและเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแห่งนี้เป็นประจำในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี ติดต่อกันเป็นปีที่ 12 แล้ว มีการบริหารจัดการกันภายในชุมชน มีกฎกติกาของหมู่บ้านที่ชัดเจน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ รายได้ทั้งหมดจะถูกนำเข้ากองทุนของหมู่บ้านเพื่อจัดสรรปันผลต่อไป

โดยมีการทำซุ้มบริการกลางน้ำมากกว่า 60 ซุ้ม คิดค่าเช่า 60 บาทต่อซุ้ม มีซุ้มอาหาร-เครื่องดื่ม 10 ซุ้ม ซึ่งถูกตั้งไว้ด้านบนเนินเหนือแม่น้ำ ไม่ได้มีการขายในน้ำเหมือนที่เป็นข่าว และซุ้มบริการอาหาร+เครื่องดื่มก็เป็นของชาวบ้านทั้งหมดไม่มีบุคคลภายนอกหรือนายทุนจากต่างถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม

“รายได้จากการให้เช่าซุ้มจะถูกจัดสรรแบ่งเป็นส่วนๆ นำเข้าชุมชน เข้าวัด ปันผลสมาชิก และเป็นค่าซื้ออาหารเลี้ยงปลา กระแสข่าวที่ออกมาในทางด้านลบว่าเป็นสถานที่สังสรรค์ดื่มกิน และสกปรก เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนบางกลุ่มขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง”

ล่าสุดยังคงมีผู้คนมาคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำ และดื่มกินกันอยู่อย่างสนุกสนาน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่มาเห็นแล้วก็เดินทางกลับ

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่เพิ่งเดินทางมาถึง และตัดสินใจที่จะไม่ลงเล่นน้ำที่ตาลเจ็ดต้นว่าเป็นเพราะสาเหตุใด นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้บอกว่า กลัวเรื่องอุบัติเหตุจากการเหยียบเศษแก้วที่มองไม่เห็นในน้ำเพราะเห็นมีคนดื่มเหล้า-เบียร์ และกลัวว่าจะมีคนเมาแล้วไม่มีสติสร้างความสกปรกให้แม่น้ำที่เขาคิดว่าจะมาเล่นกัน

หลายคนต่างแสดงความแปลกใจที่เห็นว่ามีการตั้งซุ้มดื่มกินในแม่น้ำได้ ซึ่งถ้าเป็นในประเทศเยอรมนีแล้วไม่สามารถที่จะทำได้เลย เพราะกฎหมายให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม และแม่น้ำเป็นของสาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ร่วมกัน ไม่สามารถที่จะนำมาประกอบธุรกิจแบบนี้ได้

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากจะมีการเปิดซุ้มกลางลำน้ำปาย พื้นที่สาธารณะ หรือที่หน้าหมู่อย่าง “ตาลเจ็ดต้น” นี้แล้ว ยังมีอีกหลายจุดในแม่น้ำปายที่มีการอนุญาตให้ตั้งซุ้มดื่มกินในแม่น้ำกันได้อย่างเสรี เช่น ที่ท่าโป่งแดง, สบป่อง, สบสอย, ปางหมู, ทุ่งกองมู ซึ่งแต่ละสถานที่มีการเปิดให้บริการมานานเป็นเวลาหลายปีแล้วจนกลายเป็นเรื่องปกติ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการเลียนแบบเปิดกันขึ้นมาอีก

อย่างเช่นที่แม่น้ำปาย ที่ตาลเจ็ดต้น ซึ่งในสมัยที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำในระยะแรกก็ไม่ได้มีการสร้างซุ้มดื่มกินรุกล้ำลงไปในแม่น้ำแต่อย่างใด แต่เมื่อเห็นตัวอย่างจากจุดอื่นสามารถทำได้ จึงได้ขยายพื้นที่รุกล้ำลงไปถึงแม่น้ำเป็นจำนวนเกือบร้อยซุ้ม

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ล่าสุดขณะนี้กำลังมีการวางแผนจะเปิดซุ้มดื่มกินลักษณะเดียวกับ “ตาลเจ็ดต้น” ในเขตตัวเมืองปาย ย่านใกล้สะพานข้ามแม่น้ำปาย โรงเรียนปายวิทยาคาร อีกด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเล่นน้ำและดื่มกินกันที่ตาลเจ็ดต้นนั้นบางส่วนเป็นเด็กและเยาวชน และยังมีการขายเหล้า-เบียร์ในช่วงเวลาห้ามขายคือหลัง 14.00 น. ถึงเวลา 17.00 น.อีกด้วย แม้กฎหมายใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558 ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม (ประกาศสำนักนายกรัฐมตรี )

ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการรุกแม่น้ำ ข้อกฎหมายได้มีการตราระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการบุกรุกลำน้ำสาธารณะไว้ ทั้งมาตรา 117 ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ ใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย หรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้ใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2447 มาตรา 40 มาตรา 116 และมาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบแทนกรมเจ้าท่า

และได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 12/2543 มอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการ คุ้มครอง ป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น คือ กทม. จังหวัด เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สรุปก็คือส่วนปกครองท้องถิ่นทั้งหมดต้องมีหน้าที่ดูแลลำน้ำคูคลอง

เจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล จะต้องดำเนินการ หรือดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกลำน้ำ ลำคลอง โดยฟ้องร้องให้ผู้บุกรุกรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างในลำน้ำลำคลอง

ปรากฏการณ์ซุ้มดื่มกินในลำน้ำปายกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เพราะไม่มีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย ไม่คำนึงถึงสิทธิคนปลายน้ำที่ต้องใช้แม่น้ำร่วมสายกัน แม่น้ำเป็นของหน้าหมู่ เป็นสาธารณะที่ควรช่วยกันดูแลรักษา กลับกลายเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจของคนบางกลุ่มเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น