xs
xsm
sm
md
lg

“เมืองปาย” ฉาวอีก! ขายเหล้า-เบียร์กลางน้ำโจ่งครึ่ม คนเมาถ่มถุย “ตาลเจ็ดต้น” จนสิ้นเสน่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักท่องเที่ยวเริ่มเมิน “ตาลเจ็ดต้น” แหล่งเล่นน้ำปายคลายร้อนชื่อดัง ที่เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศ เหตุตั้งแคร่ดื่มเหล้า-เบียร์กลางน้ำ เมาได้ที่ถ่มถุยน้ำลาย-ทิ้งก้นบุหรี่ลงน้ำ

วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยอากาศที่ร้อนระอุในช่วงกลางเดือนมีนาคม “ตาลเจ็ดต้น” ถือเป็นจุดท่องเที่ยวชื่อดังยอดนิยมของเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่สวยงาม เหมาะต่อการเล่นน้ำ มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไทย และคนท้องถิ่นเมืองปายไปเล่นน้ำกันอย่างอย่างสนุกสนานทุกปี แต่ล่าสุดขณะนี้กลับมีร้านเหล้าในลำน้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ซึ่งแม้ว่าบรรยากาศที่ตาลเจ็ดต้นจะเป็นไปอย่างคึกคักทุกวัน นักท่องเที่ยวหลายวัยต่างลงเล่นน้ำ ดื่มกินกันอย่างรู้สึกเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่มาถึงแล้วเดินทางกลับทันที ไม่ยอมลงเล่นน้ำตามความตั้งใจเดิม

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวบางคนที่ตัดสินใจเดินทางกลับบอกว่า ไม่พอใจ เมื่อเห็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะมาเล่นน้ำคลายร้อนกลายเป็นสถานที่สังสรรค์ดื่มกินอย่างนี้ อีกทั้งบางครั้งคนเมาก็ถ่มถุยน้ำลาย ทิ้งก้นบุหรี่ลงน้ำด้วย ทั้งที่ความจริงไม่ควรมีการตั้งโต๊ะหรือแคร่ในแม่น้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคน จนกลายเป็นธุรกิจของคนบางกลุ่มแบบนี้ ซึ่งเป็นการทำร้ายธรรมชาติแบบเห็นแก่ตัว ไม่นึกถึงคนที่อยู่ปลายน้ำ หรือคนที่ตั้งใจจะมาเล่นน้ำตรงนี้เลย

“ทำไมไม่ตั้งโต๊ะดื่มกินอยู่บนฝั่ง จำเป็นขนาดไหนที่จะต้องลงไปนั่งดื่มกินกันในแม่น้ำ”

ด้านนายนิรันดร์ ชัยกุล นายก อบต.เวียงเหนือ อ.ปาย เปิดเผยว่า กิจการค้าขายบนพื้นน้ำแม่น้ำปายแห่งนี้เป็นกิจการของกลุ่มชาวบ้านตาลเจ็ดต้น ไม่มีนายทุนเจ้าใหญ่แม้แต่รายเดียว เป็นกิจการของชาวบ้านจริงๆ และทาง อบต.เวียงเหนือก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากตรงนี้ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในฤดูร้อนที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านตาลเจ็ดต้น ถึงแม้ว่าจะรุกล้ำลำน้ำลงไปบ้างแต่ก็ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างถาวร แค่เป็นแคร่ที่สร้างด้วยไม้ไผ่ เสาที่ปักลงไปก็เป็นเสาไม้ไผ่ ตนจึงไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย

ข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตามในประเด็นข้อกฎหมายได้มีการตราระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการบุกรุกลำน้ำสาธารณะไว้ ทั้งมาตรา 117 ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ ใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย หรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้ใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2447 มาตรา 40 มาตรา 116 และมาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบแทนกรมเจ้าท่า

และได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 12/2543 มอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการ คุ้มครอง ป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น คือ กทม. จังหวัด เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สรุปก็คือส่วนปกครองท้องถิ่นทั้งหมดต้องมีหน้าที่ดูแลลำน้ำคูคลอง

เจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล จะต้องดำเนินการ หรือดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกลำน้ำ ลำคลอง โดยฟ้องร้องให้ผู้บุกรุกรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างในลำน้ำลำคลอง

ทั้งนี้ มีรายงานว่านอกจากที่ “ตาลเจ็ดต้น” หมู่บ้านแห่งหนึ่งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เมืองท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งของไทย ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในลักษณะเดียวกันนี้อีกจำนวนมาก เช่นที่ บ้านปางหมู ทุ่งกองมู บ้านสบสอย บ้านสบป่อง และท่าโป่งแดง เขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน แต่ถูกมองว่า “เป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องปกติ ที่ทำกันแบบนี้มานานแล้ว”



กำลังโหลดความคิดเห็น