ลำปาง - มทบ.32 เปิดห้องเชิญคนหนุน คนสร้าง คนค้านโรงไฟฟ้าขยะลำปาง ก่อนสั่งเลื่อนเปิดประชาพิจารณ์ไม่มีกำหนด เผยวงหารือนานกว่า 4 ชม. นายทุน-ผู้นำท้องถิ่นรับ เหมาเครื่องดูงานภูเก็ต จ่ายเงินติดกระเป๋าคนละ 5,000-10,000 บาทจริง พร้อมหนุนสุดตัว ขณะที่พลังงานออกตัวแรง เจอถามกลางวงจะสร้างโรงเผาขยะหรือโรงไฟฟ้า
พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้เป็นตัวแทน ผบ.มทบ.32 เข้าประชุมหารือและรับฟังปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง วานนี้ (17 มี.ค.) ที่ห้องประชุมภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี โดยเชิญส่วนราชการทั้งนายอำเภอเมืองลำปาง พลังงานจังหวัดลำปาง อุตสาหกรรมจังหวัด กฟภ. และนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่มาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดลำปางเข้าร่วมด้วย
ส่วนภาคประชาชนได้มีการเชิญผู้นำท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิก อบต. และตัวแทนชาวบ้านป่าเหียง ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และนางวรรณี ลิทองกุล หรือที่เรียกกันว่า “แม่เลี้ยงวรรณี” กรรมการผู้จัดการบริษัท วีเอ็นพี คอนเล็คชั่น จำกัด ซึ่งจะเข้ามาตั้งโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวในพื้นที่
ตัวแทนชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ได้แสดงความคิดเห็นไม่พอใจผู้นำ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านทราบ หลังบริษัทพาแกนนำไปดูงานที่โรงไฟฟ้าขยะภูเก็ตมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งระหว่างดูงานบริษัทได้เลี้ยงดูอย่างดี แต่ดูงานจริงๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น นอกนั้นเป็นการพาเที่ยว กิน สนุกสนานตลอดงาน แถมมีค่าขนมอีกคนละ 5,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนละ 10,000 บาท
และการเข้าศึกษาดูงานได้มีโอกาสสอบถามวิศวกรในเรื่องปล่อยควันพิษ ซึ่งวิศวกรก็ยังตอบไม่ได้ว่ามีมากขนาดไหน ซึ่งอยู่ที่ทิศทางลม และยังมีสารที่เป็นอันตรายด้วย หากมีการรั่วไหลออกมาจะอันตรายอย่างมาก ที่สำคัญจะมีการทำประชาคมชาวบ้านในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ซึ่งชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ และไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าภาพในการจะจัดทำประชาคมในครั้งนี้
นอกจากนั้นชาวบ้านยังระบุว่า ชาวบ้านป่าเหียงดั้งเดิมมีความรักสมัครสมานสามัคคีกัน พื้นที่โดยรอบสามารถทำมาหากินได้ตามธรรมชาติ มีชุมชนใกล้เคียงจำนวนมาก จึงเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องก๊าซพิษที่จะออกสู่บรรยากาศ ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นแล้วที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ แม้สุดท้ายการต่อสู้ยาวนานกว่า 10 ปีศาลจะให้จ่ายค่าชดเชย แต่หลายคนได้เสียชีวิตไป และอีกหลายคนยังป่วย ซึ่งไม่คุ้มค่า
นายวาษ เรือนจำปา ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเหียง ยอมรับว่า ระหว่างที่ตนไปดูงานได้รับเงินจากบริษัท 10,000 บาทจริงเพราะเป็นผู้นำ แต่ก่อนจะไปตนได้บอกกับบริษัทว่าอย่าเพิ่งซื้อ ขอให้พาตนและแกนนำชาวบ้านไปดูงานก่อน หลังจากที่ตนไปดูงานที่ภูเก็ตกลับมาก็เห็นว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ดี เพราะทางบริษัทบอกว่าจะเป็นขยะแห้งเท่านั้น ไม่มีกลิ่นแน่นอน ส่วนผลกระทบยังไม่พูดถึง
“เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ที่รัฐบาลสนับสนุนใช้ขยะมาเป็นประโยชน์ ชาวบ้านได้รายได้ มีงานทำ หากดีเราก็ควรอนุญาตให้เขาตั้งโรงงาน เป็นโรงงานใหญ่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ”
นางวรรณี ลิทองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอ็นพี คอนเล็คชั่น จำกัด ได้ระบุว่า การพาผู้นำชุมชนไปดูงาน ตนใช้เงินบริษัทมหาศาล ทั้งเหมาลำเครื่องบินไป 2 ลำ เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกจำนวนมาก แต่ไม่ได้บังคับว่าหากไปดูแล้วจะต้องเห็นด้วยทั้งหมด หากไปดูแล้วคิดว่าดีก็ขอให้บอกต่อ แต่หากมีจุดไหนที่บกพร่องก็ขอให้บอกเพื่อทางบริษัทจะได้แก้ไข
ด้านนางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง ระบุว่า ขณะนี้พลังงานของประเทศชาติกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต ซึ่งทุกคนก็รู้ต้องหาพลังงานทดแทน และปัจจุบันก็หันมาทำโรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ มากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำประชาพิจารณ์ เป็นส่วนประกอบในการยื่นขออนุญาต กระทรวงพลังงานก็มีนโยบายที่จะให้ประเทศมีพลังงานใช้ เพราะว่าเกิดวิกฤตพลังงาน
ดังนั้น หากผู้ที่ไปดูงานมาแล้วไม่ได้นำไปบอกต่อ หรืออธิบายให้คนที่ไม่ได้ไปความขัดแย้งก็จะตามมา และยิ่งมาบอกว่าโครงการไม่มีประโยชน์ ไม่ควรสร้าง ชาวบ้านจะคัดค้านกันทั้งหมด แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่น การมีงานทำ รายได้ หรือสิ่งที่บริษัทจะเข้ามาทำ CSR โดยรอบชุมชนจะเกิดประโยชน์ ซึ่งทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ และที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีเช่นกัน แต่ผู้นำจะต้องมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้ทราบว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พูดกลางที่ประชุมทันทีว่า ไม่จำเป็นต้องออกตัวแรงขนาดนี้ พลังงานไม่ควรจะบอกว่าพลังงานจะขาดแคลนก็ได้ เพราะตนทำงานด้านนี้อยู่รู้ว่าพลังงานทางเลือกมีอยู่อีกหลายทาง
นายสุวิทย์ถามย้ำว่า เวลานี้ต้องการทำอะไร ต้องการจะกำจัดขยะ หรือต้องการจะทำไฟฟ้า หากจะกำจัดขยะบ่อกำจัดขยะของ อบจ.ซึ่งมีขนาดใหญ่ และกำลังจะเปิดให้บริการในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า พร้อมจะรับขยะจากทั้งจังหวัดซึ่งเพียงพอ แต่หากจะตั้งโรงไฟฟ้าก็ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของ กฟผ.อยู่แล้ว และคนในพื้นที่ป่าเหียงก็ไม่ได้จำเป็น หรือมีปัญหาในเรื่องนั้น
แต่หากต้องการทำให้ขยะเป็นพลังงานกรมควบคุมมลพิษพร้อมสนับสนุน ทำให้บ่อขยะเดิม คือ บ่อกำจัดขยะขนาดใหญ่ของ อบจ. ใช้ขยะที่มีอยู่แล้วคือ RDF ขยะแห้งแล้วนำส่งให้โรงปูนซีเมนต์ก็ได้ ดังนั้นในจังหวัดลำปางจึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ
“ที่สำคัญโรงไฟฟ้าขยะที่ภูเก็ตเป็นโรงไฟฟ้าขยะที่แย่ที่สุดในประเทศไทย คนในวงการจะรู้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่จังหวัดอื่น เพราะขยะชื้น เมื่อเอาใส่เข้าไปเครื่องก็พัง ไฟฟ้าก็ได้น้อยแถมมลพิษออกมามาก ซึ่งน่าห่วงมาก”
ส่วนผู้นำท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้เกือบทุกคนเห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ อาทิ นายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว ระบุว่า ตามที่ตนไปดูงานหลายประเทศก็ทำเหมือนกัน โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เพราะขยะมาจากเราทุกคน จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ขยะล้นบ้านล้นเมือง และกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งในอนาคตหากไม่มีโรงพลังงานไอน้ำจากขยะเหลือใช้แล้วจะเอาขยะไปไว้ที่ไหน หากมีโรงไฟฟ้าตัวนี้ก็ดีกว่าที่จะเอาไปทิ้งไปถม ซึ่งประเทศเจริญแล้วเขาไม่ทำกัน
หลังจากที่ประชุมกันยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ในที่ประชุมให้ยกเลิกการทำประชาคมวันที่ 29 มี.ค.นี้ออกไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลของโครงการให้มากกว่านี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นหรือไม่
และสุดท้ายตัวแทนชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผ่านทางนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ต่อไป