xs
xsm
sm
md
lg

ถือฤกษ์ “วันช้างไทย” ระดมกำลังสร้างแนวรั้วปูนปลอดกระแสไฟฟ้า ป้องกันช้างป่าพื้นที่ประจวบฯ-เพชรบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - หลายหน่วยงานร่วมสร้างแนวรั้วปูนปลอดกระแสไฟฟ้า ป้องกันปัญหาช้างป่าในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน เพชรบุรี ถึงจะต้องใช้งบฯ สูงกว่า 50 ล้านบาทก็ตาม พร้อมวอนนายกรัฐมนตรี ช่วยเหลือด้านงบฯ เพื่อให้ทั้งช้าง และคนอยู่ร่วมกันได้ ขณะที่วันนี้ถือฤกษ์วันช้างไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) จัดสร้างแนวรั้วเพิ่มเติมอีก 300 เมตร

วันนี้ (13 มี.ค.) นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นายทัศเนศวร์ เพชรคง ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมปลัด อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ทหารชุดเฉพาะทัพพระยาเสือ ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ กาญจนบุรี ตำรวจพลร่วมค่ายนเรศวร ชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ และชาวบ้านป่าเด็ง พร้อมกลุ่มจิตอาสาอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยสัตว์ใหญ่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทาง นายทองใบ เจริญดง ผู้ประสานงานแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) ได้จัดกิจกรรมวันรักษ์ช้างไทย เนื่องในวันช้างไทย ประจำปี 2558 ณ ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่า แก่งกระจาน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยทั้งเจ้าหน้าที่แก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ WCS ปลัด อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาช้างป่ากับคนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เจ้าหน้าที่อุทยาน นักอนุรักษ์ ตลอดชนชาวบ้านได้พยามแก้ปัญหามาโดยตลอด

ทั้งนี้ เพื่อให้ช้างอยู่กับคน และหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาในขณะนี้ ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) ได้ดำเนินการแก้ปัญหารวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการจัดสร้างรั้วช้างทั้งในตำบลป่าเด็ง 13 กิโลเมตร และ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อีก 40 กิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมารวบกวนชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 1 กิโลเมตร รวมทั้งตำบลป่าเด็ง ก็ดำเนินการไปแล้วในบางส่วน

นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวถึงการจัดสร้างรั้วป้องกันช้างป่าเป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ว่า เป็นอีกแนวทางในการป้องกันช้างป่าที่ปัจจุบันจากข้อมูลช้างป่าที่หากินอยู่ในพื้นที่ทั้งป่าเด็ง และห้วยสัตว์ใหญ่ มีกว่า 150 ตัว แต่ละปีก็มีประชากรช้างป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญเป็นแนวรั้วที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อสัตว์ป่าฯ

อีกแนวทางคือ การจัดสร้างแหล่งน้ำ และขุดลอกแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ เนื่องจากช้างป่าที่นี่ส่วนใหญ่ใช้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้ง ต.ป่าเด็ง และ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ส่วนแหล่งอาหารก็คงต้องปลูกเสริมให้แก่ช้างป่า แต่ต้องดูแต่ละพื้นที่รวมทั้งการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตพื้นที่แห่งนี้เชื่อว่าก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งเหมือนที่กุยบุรี ก็จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวตามมาต่อไป

นายทองใบ เจริญดง ผู้ประสานงานแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) กล่าวว่า วันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากช้างป่าร่วมกัน โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าการจัดสรรงบประมาณในการสร้างรั้วป้องกันช้างป่าที่เป็นแบบเฉพาะคือ ใช้เสาปูน และเหล็กเส้น ตลอดจนสลิงมาขึง และให้ความยืดหยุ่นได้ ซึ่งงบประมาณที่ต้องใช้ทราบว่าอย่างน้อยต้อง 60 ล้านบาท

“จุดนี้เท่าที่ทราบทั้ง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และทาง อบต.ป่าเด็ง และหน่วยงานราชการก็พยายามช่วยกันจัดหางบประมาณ วันนี้ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) ก็ได้จัดสรรเงินงบประมาณมาสร้างแนวรั้วเพิ่มเติมอีก 300 เมตร โดยมีการว่าจ้างแรงงานชาวบ้านในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาคนกับช้างให้อยู่ร่วมกันนั้น ก็ต้องสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรู้จักการอนุรักษ์สัตว์ป่าควบคู่กันไป”

นายบุญสืบ สินมั่น กลุ่มจิตอาสาอนุรักษ์ช้างป่าห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ถึงแม้ปัญหาช้างป่าจะลงมากัดกินพืชไร่ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ตาม แต่เชื่อมั่นว่า ทุกคนไม่มีใครคิดที่จะทำร้ายช้าง ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยกันออกมาตั้งกลุ่มเฝ้าช้างในช่วงกลางคืนของแต่ละหมู่บ้าน บางส่วนได้รับการสนับสนุนลูกโป้ง จาก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS)

“ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็จะเข้ามาร่วมลาดตระเวนบ้างในช่วงที่มีการร้องขอ และเข้าใจว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กว้างใหญ่ แต่กำลังเจ้าหน้าที่ต้องแบ่งกันดูหลายจุด ดังนั้น ชาวบ้านจึงต้องช่วยเหลือตัวเองเช่นกัน”

ด้าน ลุงอาทร ปานน้อย ชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยต่อแนวรั้วป้องกันช้างที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า แต่ก็อยากให้หน่วยงานราชการที่มีงบประมาณจัดสรรงบประมาณลงมาช่วยเหลือในการสร้างรั้วปูนให้แก่ชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 50 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา มีการทอดผ้าป่าหาทุนสร้างกันมาแต่ก็ไม่พอ และอยากฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาเรื่องช้างป่าที่เป็นรูปธรรมให้แก่ชาวบ้านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย” ลุงอาทร กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น