xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟโชว์ “หมู่บ้านสันติราษฎร์” เกษตรกรรมแนวใหม่สร้างความยั่งยืนให้ตำรวจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ซีพีเอฟโชว์ “หมู่บ้านสันติราษฎร์” โครงการอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ตำรวจ สภ.เกาะจันทร์ ชลบุรี เกษตรกรรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อช่วยสร้างความมั่นคง และความสุขให้แก่ครอบครัวของตำรวจไทย ด้วยการส่งเสริมให้ตำรวจได้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่ง มั่นคง และปลอดภัย พร้อมได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (12 มี.ค.) นายสาโรจน์ เจียระคงมั่น รองกรรมการผู้จัดการซีพีเอฟ และคณะ นำผู้สื่อข่าวชม “โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” พร้อมกล่าวว่า “โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ที่ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือในลักษณะ 4 ประสาน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารทหารไทย สภ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี รวมถึงซีพีเอฟ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจชันผู้น้อยจาก สภ.เกาะจันทร์ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 31 ครอบครัว ได้มีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเป็นของตนเอง และประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงให้แก่ตำรวจ และครอบครัวตลอดช่วงการรับราชการไปจนถึงหลังเกษียณราชการ

พื้นที่ของโครงการ “หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” รวมกว่า 230 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยรวม 50 ไร่ โดยสมาชิกแต่ละครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดิน จำนวน 1 ไร่ครึ่ง พร้อมบ้านพักอาศัย 1 หลัง และโรงเรือน 1 หลัง สำหรับใช้เลี้ยงไก่พันธ์พื้นเมือง ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 180 ไร่ ใช้สำหรับดำเนินกิจการเกษตรที่บริษัทฯ เข้าไปส่งเสริม ได้แก่ การเลี้ยงสุกรรุ่นพันธุ์ การเลี้ยงกบ และการปลูกผักปลอดสารพิษ

รวมถึงสนับสนุนการก่อสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดของเสียจากมูลสุกรอีกด้วย ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในโครงการฯ กว่า 155 ล้านบาท โดยเงินลงทุนในส่วนนี้ตำรวจผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมกับบริษัทในการลงทุ นจำนวน 56.3 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นเงินกู้จากธนาคาร

โครงการหมู่บ้านสันติราษฎร์ ดำเนินการในรูแบบ “1 หมู่บ้าน 4 ผลิตภัณฑ์” ประกอบด้วย “3 อาชีพหลัก 1 อาชีพเสริม” ทั้งนี้ อาชีพหลักประกอบด้วย การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงกบ และการปลูกพืชปลอดสารพิษ และการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม ซึ่งซีพีเอฟ ร่วมกับเครือซีพี ให้การสนับสนุนการบริหาร และดำเนินงานการปศุสัตว์ และการเพาะปลูก รวมถึงผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร และการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพเกษตรของสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ

นายสาโรจน์ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ตำรวจที่เป็นสมาชิกทุกคนนอกจากจะมีรายได้จากการรับราชการแล้ว และทุกคนยังมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเพื่อส่งขายให้บริษัทเป็นอาชีพเสริมเดือนละ 3,000 บาท ขณะที่รายได้หลักนำมาใช้สำหรับชำระเงินกู้จากธนาคารเป็นหลัก โดยไม่กระทบต่อเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการทุกคนยังรับราชการอยู่ และต่างยังไม่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมมาก่อน

ดังนั้น ในช่วงแรกบริษัทฯ ต้องให้การสนับสนุนด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนการตลาดของอาชีพหลักทั้ง 3 อาชีพ ก่อนที่จะส่งต่อให้ตำรวจผู้ร่วมโครงการดูแลต่อไป ในระหว่างนี้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเข้ามาเรียนรู้การทำงานจากเจ้าหน้าที่บริษัทอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นเกษตรกรเต็มตัวต่อไปในอนาคต

โดยอีก 2 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ.2560 ภาระการชำระเงินกู้ธนาคารจะสิ้นสุดลง กรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินจะเป็นของสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งมีรายได้จากอาชีพหลักทั้ง 3 อาชีพมาช่วยเสริมเงินเดือนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงให้การสนับสนุนการบริหารจัดการฟาร์มสุกรให้แก่สมาชิกต่อไปอีก 5 ปี และสนับสนุนการเลี้ยงกบ และการปลูกผักต่อไปอีก 2 ปี เพื่อที่สร้างความมั่นใจได้ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนมีความพร้อมเพียงพอที่จะรับผิดชอบ และดำเนินการอาชีพเกษตรกรรมได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงต่อไป

นอกจากนี้ ในปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ขยายการส่งเสริมอาชีพการเพาะปลูกผักปลอดสารพิษไปให้แก่ 40 ครอบครัวที่อยู่รอบหมู่บ้านสันติราษฎร์ เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนรอบหมู่บ้าน และสังคมโดยรวมอีกด้วย

นับจากเริ่มโครงการเกษตรสันติราษฎร์ จนถึงวันนี้ ซีพีเอฟได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างอาชีพ และความมั่นคงให้แก่เกษตรกร รวมถึง ข้าราชการตำรวจไทย แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้แก่ครอบครัวข้าราชการตำรวจ ตลอดชุมชนรอบข้างต่อไป

ด้าน ร.ต.ต.เดชอุดม กุญชะโร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เกาะจันทร์ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นำโครงการดังกล่าวมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.เกาะจันทร์ และถือว่าเป็นที่แรกของประเทศ และมีแห่งเดียวในประเทศที่ทำรูปแบบนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องมีเงินลงทุน เพียงแต่บริษัทซีพี เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด ทั้งการตั้งรูปแบบของบริษัท การกู้เงินจากธนาคารให้โดยตำรวจเป็นผู้คำประกัน และเป็นผู้ผ่อนชำระเงินต่อทางธนาคารเท่านั้น

โดยในระยะแรก ทางบริษัทซีพี นำรายละเอียดมาเสนอให้แก่ตำรวจของ สภ.เกาะจันทร์ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในช่วงนั้นตำรวจก็ไม่ค่อยมั่นใจต่อโครงการมากนัก แต่เมื่อมีรายละเอียดและรูปแบบ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกในโครงการ จะมีบ้านให้ 1 หลัง และที่ดินให้คนละ 600 ตารางวา ซึ่งเรื่องนี้หากจะนำเงินเดือนของตำรวจไปผ่อนซื้อบ้านบ้านเพื่ออยู่อาศัย 1 หลังนั้นเป็นเรื่องที่ยากและลำบาก แต่ในโครงการนี้ทำได้ และเมื่อครบเงื่อนไขสัญญาก็จะได้บ้านดังกล่าวเป็นของตนเอง โดยก็ไม่ต้องนำเงินเดือน หรือเงินส่วนตัวที่มีอยู่ไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการนี้เลย เพียงทุกเรื่องทางบริษัทซีพีจะเป็นผู้บริหารจัดการให้ทั้งหมด

ร.ต.ต.เดชอุดม กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขในสัญญานั้นมีระยะเวลา 10 ปี และขณะนี้เหลืออีกเพียง 2 ปีเท่านั้น เงื่อนไขที่ทำไว้ก็จะสิ้นสุดลง หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในโครงการแห่งนี้มีทั้งสิ้น 31 คน จะต้องเข้ามาบริหารโครงการเอง เช่น โครงการเลี้ยงกบ โครงการปลูกองุ่น และโครงการเลี้ยงสุกร ซึ่งหากยังไม่สามารถบริหารได้ในช่วงแรกก็สามารถว่าจ้างพนักงานของบริษัทซีพี ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้มาบริหารก่อน หรือจะดำเนินการในรูปแบบใดเพิ่มเติมนั้นก็จะให้คณะกรรมจากตำรวจทั้ง 31 คน ที่คัดเลือกเป็นคณะกรรมการบริหาร 10 คน เป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง แต่จะต้องหลังจากหมดเงื่อนไขสัญญาในปี 2560 แล้ว

นอกจากโครงการหลักๆ ที่บริษัทซีพีกำหนดไว้แล้วต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ยังมีโครงการสำรองที่บริษัทซีพีให้การคำประกัน แต่ไม่อยู่ในโครงการหลักที่เป็นรายได้เสริม คือ โครงการเลี้ยงไก่ชน โครงการปลูกต้นกะเพรา ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือโครงการหลัก ซึ่งจะมีรายได้อีกรายละ 3,000 บาท ถึงหลายหมื่นบาทด้วย

ด้านนายปรีชา ไขศรีแก้ว เกษตรกรต่อเนื่องในโครงการดังกล่าว กล่าวว่า เดิมตนเป็นพนักงานของบริษัทซีพีดังกล่าว และได้ลาออกมาเข้าร่วมโครงการโดยมีชาวบ้านที่ตนดึงเข้ามาเป็นสมาชิกโครงการเกษตรกรต่อเนื่อง จำนวน 40 คน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทซีพี เช่น สายพันธุ์ต้องมาจากซีพี คุณภาพจะต้องได้รับการยอมรับจากซีพี และวัตถุดิบที่ผลิตได้ต้องส่งให้แก่ซีพีเท่านั้น และขณะนี้ที่ร่วมทำกับซีพี คือ โครงการปลูกต้นกะเพรา

“เดิมโครงการปลูกต้นกะเพรา ตนนำไปเสนอสมาชิกให้เข้าร่วมโครงการ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีความมั่นใจต่อโครงการนี้ แต่เมื่อเข้าร่วมมาในระยะหนึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จ และสามารถสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัว ทำให้แต่ละครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชา กล่าวต่อว่า ขณะนี้สมาชิกสามารถเก็บใบกะเพราได้ประมาณวันละ 8-10 กิโลกรัมต่อ 1 ราย ตามราคาที่ซีพีประกันราคาไว้ 70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านในเรื่องราคาเป็นอย่างมาก โดยชาวบ้านจะมีพื้นที่คนละ 1 ไร่ ลงทุน 1 ครั้ง/ปี จำนวน 20,000 บาท แต่รายได้ที่ได้รับประมาณ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อหักลบแล้วจะมีกำไรถึง 80,000 บาท






กำลังโหลดความคิดเห็น