xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ผู้รักษาโรคกาฬหลังแอ่นระบุไม่พบอาการติดเชื้อในกระแสเลือดบ่อยนัก(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - แพทย์ผู้ทำการรักษาโรคกาฬหลังแอ่น ระบุ ไม่พบอาการติดเชื้อในกระแสเลือดบ่อยนัก ระบุเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง อัตราการเสียชีวิตสูง แต่ไม่เคยพบในผู้ที่มีภูมิต้านปกติ ขณะ ผอ.รพ.เมืองแปดริ้ว แนะ หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จะไม่ตกเป็นเหยื่อแบคทีเรียมรณะ ย้ำยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม



วันนี้ (9 มี.ค.) นพ.วัฒนา อารีย์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม รพ.พุทธโสธร (เมืองฉะเชิงเทรา) แพทย์ผู้ทำการรักษาหญิงชาวกัมพูชา ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคกาฬหลังแอ่น ระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพบอาการของโรคนี้ติดเชื้อในกระแสเลือดมากนัก ซึ่งเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง และรวดเร็วจนเกิดภาวะช็อก จึงมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมากถึงร้อยละ 50-70 ในผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือด

ส่วนเรื่องภูมิต้านทานของผู้ป่วยรายนี้ต้องมีการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจนต่อไป เพราะโดยทั่วไปแล้วจะไม่พบเชื้อในคนที่มีภูมิต้านทานปกติบ่อย จะพบได้ในเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานที่บกพร่องเป็นส่วนใหญ่ สำหรับอาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ อาการไข้ และมีผื่นขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนมากมีอาการของจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง และมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีอาการชัก ซึ่งลักษณะของคนไข้รายนี้ค่อนข้างตรงกับโรคในทุกอาการที่ปรากฏ

ด้าน นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.พุทธโสธร กล่าวว่า กรณีที่มีความกังวลกันว่า หญิงชาวกัมพูชาจะเป็นพาหะ หรือนำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย เพราะทำงานเป็นลูกจ้างแม่ค้าขายอาหาร (คอหมูย่าง) ให้แก่คนไทย โดยเฉพาะที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้บริโภคเข้าไปนั้น เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ตายง่ายภายใน 5 นาทีเท่านั้น จึงไม่ต้องตกใจว่าจะเกิดการติดต่อกันได้ง่าย เพราะการที่จะติดต่อกันได้นั้นจะต้องสัมผัสกันใกล้ชิด เช่น ไอจามรดหน้ากัน ใช้ช้อนใช้อุปกรณ์เครื่องครัวร่วมกัน หรืออยู่ในบ้านเดียวกัน

ซึ่งโดยปกติเชื้อชนิดนี้ยังสามารถพบได้ในคนทั่วไป แต่ไม่ได้ก่อโรค โดยในคนที่มีภูมิต้านทานปกติก็จะสามารถดูแลได้ และหากคนทั่วไปที่ทราบข่าวกลัวว่าจะติดเชื้อโรคนี้ ก็ให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ ทานร้อน ช้อนกลาง ก็จะช่วยได้ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด ชุมชนหนาแน่น หากรู้สึกไม่สบายควรสวมหน้ากากอนามัย และหากสงสัย ทาง รพ.พุทธโสธร หรือ สสจ.ก็พร้อมที่จะให้การดูแลรักษาโดยเร็ว ซึ่งเป็นมาตรการที่เตรียมพร้อมกันไว้

อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้จะมีระยะเฝ้าระวัง และฟักตัวประมาณ 2 วัน นานที่สุด 10-11 วัน ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดจริงในพื้นที่ก็จะพบผู้ป่วยรายใหม่แล้ว แต่ถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 วัน ยังไม่พบผู้มีอาการ หรือผู้ป่วยรายใหม่เลย จึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ได้มีการแพร่ระบาดใน จ.ฉะเชิงเทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น