xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ น่านนั่งหัวโต๊ะผ่าทางตันสร้างมัสยิดน่าน แนะทำ “บาแล” ปูทางก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - พ่อเมืองน่านนั่งหัวโต๊ะแจงทางออกปัญหาคนต่อต้านการก่อสร้างมัสยิด ย้ำต้องใช้กระบวนการทางสังคม-กฎหมายร่วมกัน เชื่อมุสลิมไม่ต้องการสร้างมัสยิดบนความขัดแย้งแน่ แนะทำเป็นบาแลก่อนพัฒนาเป็นบาลาเซาะห์ -สุเหร่า-มัสยิดต่อไปในอนาคต

วันนี้ (3 มี.ค.) นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานชี้แจง และมอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมัสยิด ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดน่าน โดยมีนายกาจพล เอิบสุขสิริ นายชัยรัตน์ ธาราสันติสุข รองผู้ว่าฯ พระครูสิริธรรมภาณี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ นายแพทย์ บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาอาวุโสประชาคมจังหวัดน่าน พ.อ.ดุษิต ปุระเสาร์ รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกน่าน นายชนาธิป เสมแย้ม นายอำเภอภูเพียง นายสโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ผู้แทนจากคริสตศาสนจักร และผู้แทนจากชาวไทย-มุสลิม จังหวัดน่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คนเข้ารับฟัง

นายอุกริชกล่าวว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี แต่ไม่เคยมีชุมชนมุสลิมเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้สถานการณ์วันนี้เกิดความตื่นตัว เกิดช่องว่างของความไม่เข้าใจ ประกอบกับข้อมูลข่าวสาร ภาพทางสื่อ และเกี่ยวโยงกับสถานการณ์โลกที่ตอกย้ำความรุนแรง ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นกังวล

ซึ่งเรื่องศาสนาเป็นเรื่องคติความเชื่อ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองหรือผลประโยชน์ ต้องให้เกียรติและความเคารพในจิตวิญญาณของคติความเชื่อซึ่งกันและกัน การยอมรับคติความเชื่อจำเป็นต้องใช้เวลา สร้างความเข้าใจและความรู้สึก

กรณีพี่น้องชาวจังหวัดน่านออกมาคัคค้านการก่อสร้างมัสยิด เชื่อว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่คุ้นชิน หากให้เวลาและสร้างความเข้าใจกันแล้วจะไม่เกิดปัญหาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางกฎหมาย โดยกรณีนี้ตามกฎหมายไม่มีข้อห้าม แต่ที่สำคัญคือ การยอมรับของชุมชนที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งทางพี่น้องชาวไทย-มุสลิม ก็ไม่ได้ต้องการสร้างศาสนสถานที่เกิดขึ้นบนความขัดแย้ง

“ยืนยันว่าในจังหวัดน่านจะมีที่ยืนของทุกศาสนา ทุกคติความเชื่อ แต่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางสังคม และกฎหมาย อย่าใช้เพียงอารมณ์โดยไม่ไตร่ตรองด้วยเหตุผล เชื่อว่าทุกเชื้อชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา จะอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง สงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง”

สำหรับการก่อสร้างมัสยิด จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการทางสังคมที่จะต้องสร้างความเข้าใจ ความเชื่อใจจนเป็นที่ยอมรับกันได้ เช่น การสร้างวัดในพุทธศาสนา จะเริ่มตั้งแต่ที่พักสงฆ์ เมื่อชุมชนเห็นประโยชน์ และยอมรับก็จะพัฒนาเป็นสำนักสงฆ์ จากนั้นหากชุมชนต้องการก็จะมีองค์ประกอบเรื่องของที่ดิน ชาวบ้านเห็นชอบ ก็จะขอตั้งเป็นวัดได้ในที่สุด

ซึ่งการตั้งมัสยิดก็เช่นเดียวกัน อาจเริ่มจากการเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจ เป็นบาแล แล้วค่อยขยายเป็นบาลาเซาะห์ ถ้าชุมชนชาวไทย-มุสลิมมีมากขึ้น ชุมชนแวดล้อมยอมรับมากขึ้น ก็อาจกลายเป็นสุเหร่า และตั้งเป็นมัสยิดได้ในที่สุดเช่นกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายได้นำนโยบายดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น