xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ เตรียมความพร้อมเปิดอาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร 20 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.วิทย์ ลงพื้นที่เตรียมงานเปิดอาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร แหล่งบ่มเพาะนักวิจัยด้านภูมิสารสนเทศระดับนานาชาติ และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

วันนี้ (28 ก.พ.) ดร.พิเชษฐ์ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ. เข้าตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ และติดตามการเตรียมการพิธีเปิดอาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (สภ.) ในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2558 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร อย่างเป็นทางการ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ดร.พิเชษฐ์ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย ในการจัดตั้งศูนย์สิรินธรระหว่างประเทศด้านภูมิสารสนเทศ

ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นการกระชับความสัมพันธ์กันดีระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทย โดยมี สทอภ.เป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทย และสถาบันสารสนเทศวิศวกรรมการสำรวจการทำแผนที่และภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น เป็นหน่วยงานดำเนินการฝ่ายจีน

อาคารศูนย์ภูมิสิรินธร ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ หรือ SKP (Space Krenovation Park)

ศูนย์ฯ ดังกล่าวจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระดับนานาชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย การฝึกอบรม การศึกษา การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการบูรณาทรัพยากรทั้ง บุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือ

ตลอดจนการเชื่อมโยงและพัฒนาเครือข่าย ข้อมูลความรู้ แลกเปลี่ยนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาในภูมิภาคให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของ สทอภ. ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ระดับสากล ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 140 ล้านบาท

ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. กล่าวว่า อาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธรดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ของ สทอภ. จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย และถ่ายทอดความรู้ด้านภูมิสารสนเทศระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาค เพื่อรองรับความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาอวกาศและภูมิสารสนเทศในอนาคต ในด้านต่างๆ ได้แก่

1.สร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน ให้มีขีดความสามารถเป็นบุคลากรพร้อมใช้พึ่งพาตนเอง และแข่งขันได้โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประกวดแข่งขันเพื่อพัฒนาการศักยภาพต่างๆ

2.ส่งเสริมสนับสนุน และสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป

3.ได้ผลลัพธ์จากการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการใหม่ๆ

4.มีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การวิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP ถือเป็นศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และระบบนวัตกรรมของประเทศ (Nation ST & I Infrastructure) เพื่อรองรับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งให้สังคมสามารถตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1.เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอด วิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องต่อเทคโนโลยีสำรวจโลก และการประยุกต์ใช้ประโยชน์บนฐานของการร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษา ทั้งในต่างประเทศภาคอุตสาหกรรมและชุมชน

2.เพื่อสถานะในการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในเชิงพาณิชย์ ให้ขยายไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในระดับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของการพัฒนาธุรกิจบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน

3.เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนวัตกรรมของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศเป็นพื้นฐานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อต่อยอดทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) และสร้างบุคลากรที่มีความรู้และ (Knowledge & Skill Worker) ด้วยเทคโนโลยีระดับสูงในระดับภูมิภาคอาเซียน



กำลังโหลดความคิดเห็น