ตลอดช่วงเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า AEC (ASEAN Economic Community) หรือคำว่า “อาเซียน” อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการตลาดมากมายก็พุ่งเป้าไปที่ตลาดอาเซียน หัวข้อเสวนาสารพัดหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือภาคประชาชน ก็ต้องมีคำต่อท้ายว่าอาเซียน
หรือแม้แต่เรื่องเลี้ยงลูก คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องปรับตัวรับมือกับอาเซียนด้วย
ประโยคที่ได้ยินต่อมาก็คือ ไม่อย่างนั้นก็แข่งขันกับเขาไม่ได้ !
ผู้คนส่วนใหญ่จึงถูกกระตุ้นให้เตรียมตัวรับมือบ้างล่ะ วางแผนการตลาดสินค้าบ้างล่ะ ถ้าในระดับครอบครัวพ่อแม่ก็พุ่งเป้าเรียนสารพัดภาษาบ้างล่ะ เรียกว่าความคิดถูกวางแนวทางและพุ่งเป้าไปที่อาเซียน ประหนึ่งว่าถ้าใครไม่พูดถึงหรือไม่เตรียมตัว ก็จะสู้เขาไม่ได้ แข่งขันกับเขาไม่ได้
แล้วจริงหรือว่าการรับมือกับการเปิด AEC ในปลายปีนี้ (2015) คือคำตอบของทุกสิ่งอย่าง ?
ที่จริงการเปิดเสรี AEC ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการวางเป้าหมายที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ตระหนักหรือมีการเตรียมตัวมาก่อนอย่างจริงจัง แต่พอใกล้ถึงเวลา ไฟเริ่มลนก้น ผลที่ตามมาก็คืออาการตามสุภาษิตที่ว่า “ตื่นตูม” มากกว่า “ตื่นตัว”
สะท้อนหลายเรื่องราวที่เรามักจะมีวิธีคิดเช่นนี้ !!
สำหรับคนเป็นพ่อแม่แน่นอนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพราะลูกของเราจะต้องเติบโตขึ้นไปในโลกเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่อยากให้ทำเป็นเรื่องปกติในชีวิต ให้ทุกสิ่งอย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา เช่น เด็กควรมีทักษะเรื่องภาษาที่ดีก็เพื่อประโยชน์ของเขาเองในการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เป้าหมายเพียงเพื่อการแข่งขันในอาเซียนเท่านั้น
หรือเด็กควรจะมีความรู้ความสามารถและทักษะชีวิตที่ดี ก็เพื่อตัวของเขาเองในวันหน้า
เราควรจะปรับทัศนคติจากที่จะทำสิ่งใดก็เพื่อให้ได้อะไรจากใครเท่านั้น
แต่..เราควรให้เด็กทำสิ่งใดก็เพื่อการเรียนรู้และเพิ่มทักษะชีวิตโดยมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันได้ในอาเซียน มิใช่เพื่อการแข่งขันเท่านั้นมิใช่หรือ !!
ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อม ก็ควรเตรียมรับมือแบบตื่นตัวมิใช่ตื่นตูม
ประการแรก เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว
สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือแสวงหาความรู้อย่างถ่องแท้เสียก่อน จากนั้นก็เล่าให้ลูกฟังถึงความหมายของการเปิด AEC ว่ามันคืออะไร มีกี่ประเทศ ทำไมถึงต้องเปิด และถ้าเปิดแล้วเราจะเจออะไรบ้างที่มีความแตกต่างกัน ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ เพื่อให้ลูกรับรู้และเกิดความเข้าใจก่อนว่าจะต้องเจออะไร
พ่อแม่อาจใช้วิธีตั้งคำถามหรือกระตุ้นให้ลูกแสดงความคิดเห็นก็ได้ว่า ในความคิดของลูกคิดอย่างไร และลูกควรจะต้องปรับตัวอย่างไร เป็นการกระตุ้นเรื่องทักษะการคิดของลูกด้วย
ประการที่สองให้ความสำคัญเรื่องภาษา
เป็นโอกาสอันดีในกระตุ้นให้ลูกเห็นความสำคัญของภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาไทย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นสากล เพราะการเรียนรู้ ถ้าเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญและอยากเรียนจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า
ที่ผ่านมา พบผลสำรวจจากหลายสำนักที่สอดคล้องกันว่าทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังรั้งท้าย ทั้งที่ภาษาคือเครื่องมือสำหรับการแข่งขันบนเวทีภูมิภาคอาเซียนและในตลาดโลก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี อาจจะชี้จุดนี้ให้ลูกเห็นด้วยว่าเมื่อเด็กไทยมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษก็ทำให้เราขาดองค์ความรู้มากมาย ยิ่งแหล่งความรู้ในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
หรือแม้กระทั่งภาษาอื่นๆ ในอาเซียน ก็มีความสำคัญไม่น้อย ฉะนั้น ต้องเน้นให้เด็กรุ่นใหม่สามารถใช้ภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาไทยด้วย
ประการที่สาม ส่งเสริมให้ลูกกล้าแสดงออก
ที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่มักทำอะไรต่อมิอะไรให้ลูกอยู่เสมอๆ มักไม่ค่อยปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้เด็กไทยยังขาดทักษะเรื่องนี้มาก เพราะถ้าเด็กไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง หรือไม่ได้เผชิญอุปสรรคด้วยตัวเอง เด็กก็จะขาดความเชื่อมั่น ขาดความกล้า และสุดท้ายก็ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดความเห็น ทั้งที่เรื่องนี้เป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และความเชื่อมั่นในตัวเองจะนำไปสู่การกล้าแสดงออก
ในโลกยุคต่อไปไม่ใช่เฉพาะคนเก่งคนที่มีความสามารถเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ แต่ต้องกล้าแสดงออกเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย
ประการที่สี่ เท่าทันเทคโนโลยี
โลกยุคนี้และอนาคตเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี องค์ความรู้มากมายที่สามารถค้นคว้าได้เพียงคลิ๊กปลายนิ้วด้วยการเข้าสู่โลกออนไลน์ ที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนไทยมีเครื่องมือไอทีมากมาย รวมถึงโทรศัพท์มือถือก็มีกันเกือบทุกคน ประเด็นก็คือพวกเขาเหล่านั้นมีไว้เพื่ออะไร ถ้าพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกเห็นประโยชน์จากเครื่องมือเทคโนโลยีได้ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถใช้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มพูนปัญญาจากโลกออนไลน์
แต่ในความเป็นจริง เรากลับพบว่าเด็กๆ ยุคนี้เอาเครื่องมือเหล่านี้ ไปใช้เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน เล่นเกมมากกว่า จึงมีสถิติออกมาว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเครื่องมือไอทีที่มีอยู่
ความจริงเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่สามารถปลูกฝังลูกได้ตั้งแต่เล็ก และควรจะทำให้การปลูกฝังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อตัวของเขาเอง มิใช่ต้องทำเพื่อแข่งขันหรือเพื่อกระแสเท่านั้น !
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่