xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนหลอกๆ อย่าบอกใคร

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ผมไม่ค่อยเข้าใจการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะการเมืองในบ้านเรายังหาจุดลงตัวยาก รัฐบาลไหนเข้ามาก็มีปัญหา เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก อีกทั้งไม่ค่อยชอบการโฆษณาชวนเชื่อโดยเฉพาะตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งๆ ที่บ้านเรามีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอีกมากมายที่ไม่ได้โปรโมต

เมื่อวันก่อนระหว่างเดินทางเข้าออฟฟิศ ฟังข่าววิทยุเอเชียเสรีในพอดคาสต์แล้ว มีเรื่องน่าสนใจ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา นายมุสตาฟา โมฮัมเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้ามาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีนี้ กล่าวต่อสำนักข่าวเอเอฟพี ในการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เขากล่าวว่า เฉพาะปี 2558 จะมีการประกาศเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ เออีซี เป็นขั้นต้นเท่านั้นเสียก่อน แต่ส่วนการเชื่อมโยงอื่นๆ นั้นก็จะค่อยๆ นำมาปฏิบัติไปตามขั้นตอน

แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ แต่ละประเทศสมาชิก ต่างก็มีความตั้งใจที่จะให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน เพื่อให้มีการยกเว้นเสียค่าภาษีสินค้า และค่าธรรมเนียมของการเดินทางระหว่างกันในขั้นต่อไป

แต่การยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมขออนุญาต หรือวีซ่าเดินทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะถูกเลื่อนออกไปถึงปี 2563

ทั้งนี้ ปัญหาของแต่ละประเทศสมาชิก มีระดับเศรษฐกิจไม่เท่ากัน อาทิ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจสูง แต่พม่าไม่ได้เปิดกว้างทางด้านเศรษฐกิจ ภายหลังที่มีการเปลี่ยนระบบการปกครองในปี 2554 ฉะนั้นจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อปรับตัวเข้าให้เทียบเท่ากับประเทศสมาชิกอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรทั้งหมดประมาณ 600 ล้านคน ที่ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่โตที่ควรจะให้มีประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า ความร่วมมือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการใช้กฎ “ซิงเกิล วีซ่า” หรือการให้ชาวต่างชาติขอวีซ่าครั้งเดียว แต่สามารถใช้ได้ 2 ประเทศ ระหว่างไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นรูปธรรม

ปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหาภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านบุคลากรและเทคนิค แต่ที่กระทบมากที่สุดคือการที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงมากกว่าการท่องเที่ยวระหว่างกัน

จากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม เชื่อหรือเปล่าว่าที่นั่นไม่มีใครสนใจการรณรงค์เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเลย ตามโรงเรียนในเวียดนามยังคงมีธงชาติเวียดนาม และธงพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นเอกลักษณ์เคียงคู่กัน

แตกต่างจากโรงเรียนในบ้านเรา รณรงค์เรื่องอาเซียนกันจนตาลาย สารพัดธงชาติอาเซียนนับสิบประเทศ ถูกประดับตั้งแต่หน้ารั้วโรงเรียน ยันภายในอาคารเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ราวกับเป็นโรงเรียนนานาชาติ อีกทั้งกิจกรรมเอะอะอะไรก็อาเซียน ซึ่งผมไม่รู้ว่าการเห่ออาเซียนอย่างไม่ลืมหูลืมตาจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไปหรือไม่

เข้าใจว่าที่ไทยเห่อกับการก้าวเข้าสู่เออีซี เป็นเพราะจุดเริ่มต้นก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อ 47 ปีก่อน ที่ไทยร่วมก่อตั้งกับอีก 5 ประเทศ ซึ่งองค์ประกอบของอาเซียน 3 เสาหลัก นอกจากเออีซีแล้ว ยังมี ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือ เอเอสซีซี และประชาคมความมั่นคงอาเซียน หรือ เอพีเอสซี

แต่นับจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 9 ที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2546 หลังจากนั้น 12 ปีผ่านไป เหมือนมาไกลแต่ไปไม่ถึงไหน พอๆ กับคำว่าประชาธิปไตย เรายังเห็นเสาหลักที่เป็นรูปธรรมแค่เสาหลักเดียว คือ เออีซี ส่วน เอเอสซีซี และเอพีเอสซี ยังไม่เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

ยิ่งมาอ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ว่าจะปี 2557 มีการตั้งงบประมาณแต่ละหน่วยงานในหัวข้อ “แผนงานรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” นับร้อยโครงการ หรือปี 2558 มีการตั้งงบประมาณ แต่ใช้หัวข้อ “แผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน” นับร้อยโครงการเช่นเดียวกัน

นอกจากจะคิดว่า ภาครัฐจะเห่ออาเซียนอะไรกันนักกันหนาแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นโดยใช้คำว่า “ประชาคมอาเซียน” บังหน้าเพื่อสอดไส้โครงการที่ไม่ก่อใหเกิดประโยชน์หรือไม่

ผมฟังนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเวียดนาม เขาบอกในทำนองว่า ทางการเวียดนามเค้าสนใจเออีซี "น้อยมาก" แต่สนใจ "ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก" (Trans-Pacific Partnership) หรือ ทีพีพี มากกว่า เพื่อมุ่งลดภาษีนำเข้าเพื่อเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน โดยจะเน้นการส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของเวียดนาม

เงื่อนไขที่สำคัญของทีพีพีก็คือ วัตถุดิบในการผลิต ต้องนำเข้ามาจากประเทศสมาชิกในกลุ่มทีพีพีเท่านั้น จะนำเข้าจากประเทศอื่น แม้แต่ประเทศที่อยู่ติดกันอย่างกัมพูชาก็ไม่ได้ ปัจจุบันประเทศสมาชิกทีพีพีประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนนาดา เม็กซิโก ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

ตอนนั้นไทยก็ให้ความสนใจในการเข้าร่วมทีพีพีกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่บังเอิญว่าบ้านเราเกิดรัฐประหารเสียก่อน และผมเข้าใจว่าทางฝ่ายจีนซึ่งช่วงชิงมหาอำนาจกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ก็กำลังหาเครื่องมือเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ

ผมนึกสภาพในบรรดาสมาชิกอาเซียน 11 ประเทศ เป็นสมาชิกทีพีพีไปแล้ว 4 ประเทศ บางประเทศมีจีนให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ในเมื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประเทศหนึ่งถือหางสหรัฐฯ อีกประเทศหนึ่งถือหางจีนขนาดนี้ นึกเสียวๆ อยู่ว่าแล้วถึงที่สุดการเปิดเออีซีอย่างจริงจังจะไปรอดหรือไม่

และไทยจะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมไปตัดผมที่ร้านตัดผมแห่งหนึ่งในย่านแหล่งที่พักและสถานบันเทิงของชาวต่างชาติ ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าย่านไหน หน้าร้านจะมีเคาน์เตอร์เล็กๆ ที่รับจองตั๋วเครื่องบินและรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ในวงสนทนาเท่าที่จับใจความได้ทำนองว่า คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่ทำนำเข้า-ส่งออกเท่านั้น

ส่วนคนจนโดยเฉพาะรากหญ้าตายหมด เพราะประเทศไทยด้อยกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเรื่องภาษา ซึ่งเขาเห็นว่าภาษาอังกฤษบ้านเรายังด้อยกว่า อีกทั้งเรื่องการแข่งขันด้านบริการเขาเห็นว่าด้อยกว่าประเทศอื่น ผลที่สุดก็คงไม่ต่างไปจากคำว่า รวยกระจุก จนกระจาย

น่าคิดว่า นอกจากชาวบ้านธรรดาๆ ที่ไม่ใช่นักธุรกิจหรือเอสเอ็มอี เอ่ยปากคำว่า "บ้านเรากำลังจะเข้าอาเซียน" (หรือ เข้าเออีซี) ในช่วงวิกฤตการเมือง โดยที่ผมไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจความหมายของคำว่าเออีซีอย่างถ่องแท้หรือไม่ อีกด้านหนึ่งความเข้าใจเออีซีในทางลบ ทำนองว่าประเทศโดยรอบจะเข้ามาตีตลาดบ้านเรา หากไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ ก็ยังเป็นความเชื่อที่ยังคงต้องรอการพิสูจน์

ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อทั้งภาครัฐและเอกชน ทำนองว่าการเข้าสู่เออีซีจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ชาวบ้านร้านตลาดมองว่าไกลตัว จับต้องไม่ได้ แล้วที่สุดประชาชนโดยรวมทั้งหมด จะได้อะไรจากเออีซีแบบจับต้องได้บ้าง?

เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกจริงๆ ...
กำลังโหลดความคิดเห็น