เชียงราย - ทีมสืบสวน ป.ป.ท.ภาค 5 ลงลุยตรวจสนามเด็กเล่นโรงเรียน-อปท.6 แห่งในเชียงราย พบส่อพิรุธเพียบ มีใบส่งของใบเดียว-แห่งเดียว ที่เหลือไร้เอกสารใดๆ แถมเจอหลักฐานเสนอโครงการแค่ 2 ล้านแต่จัดมาให้เกือบ 5 ล้าน ทั้งยังติดตั้งมั่ว-ไม่ถูกจุดอีก
วันนี้ (26 ก.พ.) พ.ต.ท.พนา ยาวิราช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาค 5 นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างสนามเด็กเล่นตามโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.เชียงรายหลายแห่ง เพื่อติดตามตรวจสอบว่ามีการก่อสร้างได้มาตรฐานตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
โดยหนึ่งในนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์สนามเด็กเล่นหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โชคชัย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ที่มีการติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 โดยบริษัทอินโนเวิลด์เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ภายใต้งบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ขณะที่นายสุชาติ อุ่นกันทา นายก อบต.โชคชัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคนในแวดวงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสอบถามว่ามีความต้องการสนามเด็กเล่นมาไว้ในพื้นที่หรือไม่ ซึ่ง อบต.เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยเฉพาะเด็ก จึงได้แจ้งความต้องการโดยร่วมกับ อบต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง และ อบต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง ทำเรื่องเสนอขอโครงการดังกล่าวผ่านทางผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย รวมวงเงินงบประมาณ 2 ล้านบาท ต่อมาได้รับการจัดสรรอุปกรณ์เด็กเล่นมาทั้งหมด 9 รายการ
“เดิมทีตั้งใจจะนำไปไว้ที่โรงเรียนอนุบาลดอยหลวงเนื่องจากมีเด็กนักเรียนเยอะ แต่ช่วงที่มีการติดตั้งผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ทางบริษัทก็นำเอามาตั้งไว้ที่หน้า อบต.โชคชัย เลย โดยมีเพียงใบส่งของมาให้เพียงใบเดียว และไม่ได้มีใบสัญญาหรือทำป้ายอะไรให้แต่อย่างใด เมื่อสอบถามว่าจะย้ายไปตั้งในจุดที่ต้องการได้หรือไม่ก็ได้รับแจ้งว่าให้ตั้งไว้ที่เดิมก่อนเพราะอยู่ในช่วงสัญญา จากนั้นทางบริษัทก็ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย ทาง อบต.ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงปล่อยให้อยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน” นายสุชาติกล่าว
พ.ต.ท.พนากล่าวว่า พื้นที่เชียงรายมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนที่ได้รับอุปกรณ์สนามเด็กเล่นในลักษณะเดียวกันมาจากบริษัทเดียวกัน รวม 6 แห่ง โดยนอกเหนือจาก อบต.โชคชัยแล้วยังมีที่โรงเรียนเชียงรุ้งวิทยา บ้านห้วยเคียน ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง, เทศบาล ต.บ้านเหล่า อ.เวียงเชียงรุ้ง, อบต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง และ อบต.ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง
“เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบทั้ง 6 แห่งแล้วพบว่ามีเพียงที่ อบต.โชคชัยเท่านั้นที่มีเอกสารรับและลงชื่อรับมอบพัสดุ ส่วนที่อื่นกลับพบว่ายังไม่ได้รับเอกสารใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลย”
พ.ต.ท.พนากล่าวอีกว่า การนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งตรงตามรายการที่ระบุจริง แต่การติดตั้งพบว่าไม่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และไม่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่ปรากฏยี่ห้อ และสถานที่ผลิตเอาไว้ ขณะที่การแจ้งราคาก็สูง เช่น ชุดนันทจิต หรือชุดปีนป่าย มีราคากว่า 700,000 บาท ฯลฯ ส่วนของเล่นเล็กอื่นๆ เช่น ม้าสปริง มีราคากว่า 30,000-50,000 บาท ฯลฯ เมื่อรวมราคาทั้งชุดที่นำไปส่งมีราคารวม 4,985,800 บาท ซึ่งมีราคาสูงมากกว่าเท่าตัว ทั้งที่เสนอขอไปแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จะได้มีการนำข้อมูล พยาน หลักฐาน ฯลฯ รวมทั้งข้อมูลจากจังหวัดอื่นนำเสนอต่อ ป.ป.ท.ส่วนกลางเพื่อประเมินราคาและพิจารณาการตามขั้นตอนต่อไป