xs
xsm
sm
md
lg

หยุดรับซื้อ! 24 จว.แห่ขนยางขายตลาดกลางบุรีรัมย์ราคาสูง ล้นไร้ที่เก็บ-ค้างจ่าย 153 ล้าน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกษตรกรชาวสวนยาง ชุมนุมสหกรณ์ และผู้ประกอบการ 24 จว.ทั่วประเทศ แห่นำรถบรรทุกยาง มาเข้าคิวรอขายที่ตลาดกลางบุรีรัมย์รับซื้อราคาสูง จนล้นสถานที่จัดเก็บ ต้องหยุดรับชั่วคราว วันนี้ (24 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - เกษตรกรสวนยาง ชุมนุมสหกรณ์ และผู้ประกอบการจาก 24 จังหวัดทั่วประเทศแห่นำรถบรรทุกยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน มาเข้าคิวรอขายที่ตลาดกลางบุรีรัมย์ที่รับซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด ตามมาตรการของรัฐบาล วันละกว่า 200 ตัน จนสถานที่จัดเก็บไม่เพียงพอต้องหยุดรับชั่วคราว เผยรับซื้อแล้ว 11,389 ตัน กว่า 667 ล้านบาท และค้างจ่าย เหตุรอรัฐบาลจัดสรรงบกว่า 153 ล้านบาท


วันนี้ (24 ก.พ.) หลังเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อยที่ชะลอนำออกมาขายช่วงราคาตกต่ำ รวมถึงชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง และผู้ประกอบการที่รับซื้อยางพาราของเกษตรกรจากทั่วประเทศทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน เช่น จ.ตรัง ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ พะเยา และจังหวัดอื่นๆ รวม 24 จังหวัด ได้แห่นำรถบรรทุกยางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน มาเข้าคิวรอขายที่ตลาดกลางยางพารา จ.บุรีรัมย์ ตั้งอยู่ ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ตาม “โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 มาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยรับซื้อราคาสูงกว่าท้องถิ่นหรือท้องตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6-8 บาท ซึ่ง ปัจจุบันยางแผ่นดิบรมควันตลาดกลางรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 63.15 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพดีกิโลกรัมละ 58.55 บาท ขณะที่ท้องตลาดทั่วไปรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 51-55 บาท

ทำให้แต่ละวันได้มีเกษตรกร ชุมนุมสหกรณ์ และผู้ประกอบการ แห่นำรถบรรทุกยางพารามาเข้าคิวรอขายเฉลี่ยวันละกว่า 200 ตัน จนทำให้เป็นปัญหาในการตรวจคัดคุณภาพยางเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อย ประกอบกับสถานที่จัดเก็บไม่เพียงพอ ทำให้ทางตลาดกลางต้องงดรับคิวของผู้ประกอบการไว้ก่อนชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มียางที่รับซื้อไว้ในโครงการฯ ที่ยังไม่ได้ระบายหรือส่งมอบให้แก่บริษัทคู่สัญญามากกว่า 600 ตัน

นายทวีศักดิ์ อนุศิริ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ได้มีเกษตรกร ชุมนุมสหกรณ์ฯ และผู้ประกอบการนำยางพารามาขายที่ตลาดกลางแล้วกว่า 11,389 ตัน คิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนในการรับซื้อยางกว่า 667 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินอยู่กว่า 153 ล้านบาท เนื่องจากยังรอการอนุมัติจัดสรรงบจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ยังเหลือยางเก็บไว้นำมาขายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน 2559





กำลังโหลดความคิดเห็น